นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) เปิดเผยว่า โครงการเร่งด่วน และมีความจำเป็นของ รฟม. ที่เสนอกระทรวงคมนาคม ตามข้อสั่งการนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อพิจารณา และผลักดันให้มีการดำเนินงานต่อไป จำนวน 3 โครงการ วงเงินรวม 2.2 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร(กม.) วงเงินประมาณ 1.4 แสนล้านบาท ซึ่ง รฟม. ได้ดำเนินการคัดเลือกเอกชน และได้ผู้ชนะการประมูลแล้ว รอเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบเพื่อลงนามสัญญา แต่ปัจจุบันยังมีคดีพิพาทเกี่ยวกับการคัดเลือกโครงการดังกล่าวระหว่าง รฟม. และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ BTSC ต้องรอศาลปกครองสูงสุดพิจารณา
2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทาง 22.1 กม. วงเงินประมาณ 4.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งขณะนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ(บอร์ด) รฟม. เห็นชอบผลการศึกษาออกแบบ เอกสารประกวดราคา และรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน(PPP) แล้ว ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการฯ ต่อไป
ทั้งนี้พื้นที่ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ที่จะใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกับโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 ตอน N2 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันออก) ของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) นั้น รฟม. จะวางแผนการก่อสร้างร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด
นายภคพงศ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รฟม. จะเป็นผู้ก่อสร้างเอง จากเดิมที่จะให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินการ อย่างไรก็ตามสำหรับพื้นที่ด้านข้างมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.) ซึ่ง กทพ. มีแผนจะทำอุโมงค์ทางด่วน 2 ชั้น ตอน N1 (ศรีรัช-ถนนประเสริฐมนูกิจ) นั้น คาดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อการทำเสาตอม่อรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล
3.โครงการระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต – ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 42 กม. วงเงินประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมากระทรวงคมนาคมมีนโยบายให้ปรับรูปแบบระบบรถ เพื่อลดวงเงินลงทุนก่อสร้าง จึงทำให้โครงการล่าช้าออกไป
“รฟม.ต้องรอฟังนโยบายจาก รมว.คมนาคมที่ชัดเจนอีกครั้งว่า ระบบขนส่งมวลชนภูเก็ต จะใช้เทคโนโลยีรูปแบบระบบรถแบบใด และเมื่อนั้นระบบขนส่งมวลชนอีก 3 จังหวัดที่เหลือได้แก่ จ.เชียงใหม่, จ.นครราชสีมา และ จ.พิษณุโลก ก็จะสามารถเดินหน้าต่อได้ โดยปัจจุบัน จ.เชียงใหม่ และ จ.นครราชสีมา ได้ดำเนินการศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วน จ.พิษณุโลก อยู่ระหว่างจ้างที่ปรึกษา”