(3 ต.ค. 66) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมีคณะกรรมการฯ ผู้แทนภาครัฐ ผู้แทนภาคเอกชนเข้าร่วมประชุม
ภายหลังการประชุม นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความดีใจที่เห็นรอยยิ้มของผู้เข้าร่วมประชุมทุกท่าน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการทำงาน
พร้อมกล่าวขอบคุณสำหรับรอยยิ้มและการต้อนรับอย่างอบอุ่น นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการหารือระหว่างส่วนราชการ ภาคเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อพิจารณาแนวทางการขับเคลื่อน Soft power ประเทศไทยอย่างบูรณาการ
ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายให้ความสำคัญกับการส่งเสริม Soft power ของประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะเห็นว่าเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มมูลค่าให้แก่สินค้าและบริการ
รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้ง เป็นการส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นของประเทศไทยในเวทีโลก
รัฐบาลจึงได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ประเทศไทย
โดยมีเป้าหมายขับเคลื่อนโครงการ แผนงาน และมาตรการต่าง ๆ ที่มีผลกระทบสูง ผ่านคอนเทนต์ 11 อุตสาหกรรม Soft power เป้าหมายของประเทศไทย โดยจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยให้เกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมในทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวเน้นย้ำว่า ในช่วงเดือน ต.ค.-ธ.ค. 66 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซัน คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวจากตลาดระยะใกล้ อาทิ จีน มาเลเซีย และอินเดียและตลาดระยะไกล อาทิ รัสเซีย คาซัคสถาน และกลุ่มประเทศในทวีปยุโรป
ซึ่งรัฐบาลได้มีการกระตุ้นการท่องเที่ยวสำหรับกลุ่มประเทศเป้าหมายเฉพาะไว้แล้ว ขอให้หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เร่งเตรียมจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวควบคู่ไปกับการผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย
ด้านนางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวว่า ได้จัดทำแผนผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยจะเร่งขับเคลื่อน 1 ครอบครัว 1 ซอฟต์พาวเวอร์ หรือ One Family One Soft Power (OFOS) และ Thailand Creative Content Agency (THACCA) มีเป้าหมายยกระดับทักษะคนไทยจำนวน20 ล้านคน สู่การเป็นแรงงานทักษะขั้นสูง
และแรงงานสร้างสรรค์ และจะสามารถสร้างรายได้อย่างน้อย 4 ล้านล้านบาทต่อปี สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง โดยจะสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และประเทศไทยจะเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำด้านชอฟต์พาวเวอร์ของโลก