นายสันติธาร เสถียรไทย อดีตที่ปรึกษาอาวุโส Global Counsel และอดีตกรรมการผู้จัดการ Sea Ltd. กล่าวในหัวข้อ “The Risk and Opportunity โอกาส ก้าวข้ามความเสี่ยงเศรษฐกิจไทย 2024” ในงาน “Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today” จัดโดย “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า เศรษฐกิจประเทศไทยเป็นเหมือนนักกีฬาสูงวัยที่ป่วยไม่แข็งแรง โดยเศรษฐกิจไทยถูกมองว่าอยู่ในระดับกลางๆ ของอาเซียนโดยความน่าสนใจในเรื่องการเข้ามาลงทุนน้อยกว่าสิงคโปร์ เวียดนาม อินโดนิเซีย และมาเลเซีย
“หากเปรียบเทียบเศรษฐกิจของไทยในวันนี้เหมือนกับนักกีฬาสูงวัยที่มีอาการป่วย จะเห็นว่าเศรษฐกิจของไทยนั้นขยายตัวได้ประมาณ 3% และในปีนี้เศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวได้ต่ำกว่า 3% นอกจากนั้นในช่วงที่การฟื้นตัวจากโควิด-19 สิ่งที่เห็นคือหลายประเทศมีช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูงไประดับ 7 – 8% แต่เศรษฐกิจไทยกลับเติบโตแค่ระดับ 1-2% เท่านั้น สะท้อนศักยภาพของเศรษฐกิจที่ลดลงชัดเจน”
นายสันติธาร กล่าวว่า ความเสี่ยงของประเทศไทย หากเปรียบเทียบเป็นนักกีฬาที่ถูกลืมจากเวทีโลก ทำอย่างไรให้นักกีฬาสูงวัยจะสามารถกลับมาเป็นผู้เล่นตัวจริงได้ ซึ่งมีอย่างน้อย 4 ข้อที่ทำได้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถแข่งขันต่อไปได้ ดังนี้
1.การออกไปหาตลาดและเชิญชวนการลงทุนจากภายนอกประเทศ ซึ่งเรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำลังทำอยู่ เพราะเรื่องนี้เปรียบไปแล้วก็เหมือนนักกีฬาสูงวันที่ แมวมองจะไม่มาหาเรา เราต้องไปหาแมวมองเองแล้วบอกว่าประเทศไทยเหมาะที่จะลงทุนอย่างไร ไปเจรจากับนักลงทุนรายใหญ่เพื่อให้เข้ามาลงทุนในไทย
2. การผ่าตัดเพื่อซ่อมแซม เพื่อให้สามารถแข่งขันและเติบโตต่อไปได้ เหมือนกับนักกีฬาที่มีอาการบาดเจ็บเรื้อรัง การผ่าตัดของเราคือการผ่าตัดกฎกติกาที่เป็นอุสรรคต่อการทำธุรกิจ (regulatory guillotine) ซึ่งทำให้ต้นทุนของธุรกิจลดลง และอุปสรรคในการทำธุรกิจลดลงด้วยซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
3.ประเทศไทยต้องเป็นนักกีฬาที่เล่นให้ฉลาดมากขึ้น หมายความว่าเล่นบทบาทที่ชาญฉลาดมากขึ้นในตลาดโลก รวมทั้งต้องพัฒนาแรงงานในประเทศที่มีทักษะมากขึ้น โดยเฉพาะทักษะเรื่อง AI Transformation ปรับทักษะ (Re skills) โดยในเรื่องนี้ถือว่าเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจในการดึงการลงทุนจากบริษัทระดับโลก
4.การใช้ยากระตุ้น ซึ่งนักกีฬาสูงวัยบางครั้งก็ต้องใช้บ้าง ซึ่งเรื่องเศรษฐกิจ การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นบางทีก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะกระสุนทางการคลังมีน้อยลง ต้องใช้อย่างระวัดระวังและต้องทำด้วยความโปร่งใส และการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องช่วยให้เกิดการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาวได้ด้วย
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยเหมือนกับรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็วแตกต่างกัน และภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจตั้งแต่ปี 1997 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการเติบโตลดลง ซึ่งความท้าทายของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด เทียบกับเส้นชัย สถานะประเทศรายได้สูง เราเดินไปได้แค่ 54.8% และที่ผ่านมา เฉลี่ย 10 ปี เติบโตที่ 3% ต่อปี ทำให้ต้องใช้เวลา 20 ปี ในการวิ่งไปถึงเส้นชัย ซึ่งปัจจุบันเส้นชัยถูกปรับเพิ่มขึ้นอีกด้วย ทำให้ต้องใช้เวลาถึง 25 ปี ที่จะถึงเส้นชัย
“สาเหตุที่เศรษฐกิจหลังโควิดยังไม่เติบโตมากนัก เนื่องจากยังมีบาดแผลทั้งจากสถานการณ์หนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจ และหนี้ภาครัฐ”
ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจไทยจะต้องก้าวข้ามความเสี่ยงจะต้องเดินหน้าควบคู่ไปกับทั้งรูปแบบเดิม และปรับรูปแบบใหม่ เช่น การส่งออกจะต้องหาการตลาดเพิ่ม ขณะที่การท่องเที่ยวจะต้องเสริมสร้างให้เข้มแข็ง หากจะเน้นปบริมาณก็ต้องดูแลสภาพแวดล้อม รวมทั้งจะต้องมีการอัพสกีลต่างๆ สำหรับแรงงาน
นอกจากนี้ ขอเพิ่มเติมข้อกังวลเกี่ยวกับการชะลอจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เพราะก่อนที่จะเข้าไปถึงแรงงานต้องมีเด็กที่เข้าถึงการศึกษา และสังคมผู้สูงอายุ โดยคนไทยเผชิญสภาวะแก่ก่อนรวย และยังรวยก่อนตาย ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนในการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งนโยบายในการดูแลประชาชน ซึ่งในส่วนของเด็กแรกเกิดนั้น อยากให้รัฐบาลดูแลทุกกลุ่ม ส่วนการช่วยเหลือคนจนควรให้การช่วยเหลือเฉพาะเจาะจง เพื่อดูแลประชาชนได้ตรงเป้าหมาย
“เราเห็นรัฐบาลกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เหมือนกับจะอ่านเศรษฐกิจต่างกัน จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 5.6 แสนล้านบาท จะสร้างตุ้นทุนทางการคลัง รวมทั้งการพักหนี้เกษตรกรซึ่งเข้าใจว่าในช่วงที่หนี้เยอะควรมีการลดภาระ แต่ผ่านไประยะหนึ่งแล้วควรมีการปรับโครงสร้างให้เกษตรกรสามารถเข้มแข็ง ซึ่งในฐานะนักเศรษฐศาสตร์อยากให้รัฐบาลมีการหารือกับนักเศรษฐศาสตร์เพราะจากการติดตามข่าวก็มีหลายเรื่องที่ตกใจ และไม่อยากให้เศรษฐกิจชะงัก”
นายเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก กล่าวว่า เศรษฐกิจโลกจะมี 3 เทรนด์ใหญ่ที่เป็นความท้าทาย เรื่องแรกคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ต่อมาคือความตึงเครียดระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) และสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society)
อย่างไรก็ตาม จากประเด็นดังกล่าวมองว่าเป็นได้ทั้งความเสี่ยงและโอกาส ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นกับทุกคน แต่อยู่ที่ว่าจะมีการรับมือและปรับตัวอยู่กับมันได้มากเพียงใด แต่ ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถต่อยอดเพื่อรับมือได้ รวมทั้งข้อได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์
“หากประเมินภาพเศรษฐกิจมหภาคของไทยยังค่อยข้างดี ประเทศไทยไม่ใช่นักวิ่งที่ป่วย แต่เราเคยบาดเจ็บและมีความกลัว ทั้งที่จริงเราวิ่งได้เร็วกว่านี้ หลายอย่างเป็นข้อจำกัดที่เราสร้างขึ้นเอง ที่สามารถแก้ไขได้ด้วยการกำหนดนโยบายใหม่ โดยเฉพาะภาคการค้าและการบริการที่ควรต้องเร่งวางตำแหน่งของประเทศไทยในการเชื่อมโยงระหว่างจีนและสหรัฐ รวมทั้งการผลักดันการเปิดเจตการค้าเสรี FTA ที่เน้นเรื่องมาตรฐาน”