วันนี้ (4 ตุลาคม 2566) นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2024 Change the Future Today จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ว่า รัฐบาลจะใช้ “การทูตเชิงเศรษฐกิจ” เป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างโอกาสดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
สำหรับแนวทางการทูตเชิงเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลนั้น กระทรวงการต่างประเทศ จะเน้นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเพิ่มอำนาจการต่อรอง และสร้างมูลค่าในความสัมพันธ์ของไทยกับประเทศต่าง ๆ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ เช่นเดียวกับการส่งเสริมเศรษฐกิจสีเขียว พลังงานทดแทน ดิจิทัล เกษตรยั่งยืน เพื่อสร้างงานใหม่ไม่พึ่งพาเศรษฐกิจแบบเดิม ๆ ผ่านการสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีอิทธิพลด้านการเมือง เศรษฐกิจของภูมิภาค
โดยมีประเทศเป้าหมายสำคัญ ประกอบไปด้วย จีน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย รวมทั้งเพิ่มปฏิสัมพันธ์และเพิ่มความสัมพันธ์กับประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยด้วย เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป ประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ ตุรกี เช่นเดียวกับการสร้างสภาพความแวดล้อมกับประเทศที่เป็นหุ้นส่วนกับต่างประเทศทั้งด้านการผลิต บริการ และการวิจัยและพัฒนา
สำหรับการทูตเชิงเศรษฐกิจตามนโยบายของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรม เริ่มจากไทยจะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจเพื่อก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของโลก สอดคล้องกับค่านิยมสากล ประชาธิปไตย สิทธิมนุษชนขั้นพื้นฐาน และแสดงความพร้อมที่จะรับผิดชอบเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาความท้าทาย เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
พร้อมกันนี้ไทยจะใช้การทูตเชิงเศรษฐกิจเป็นหัวหอกของการทูตยุคใหม่ โดยหาโอกาสใหม่ ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจดิจิทัล การพัฒนานวัตกรรม การพัฒนาผู้ประกอบการ และการพัฒนาคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการลงทุนไทยในต่างประเทศ การให้สิทธิประโยชน์กับนักลงทุนในอุตสาหกรรมอนาคต ซึ่งทางบีโอไอ มีนโยบายให้วีซ่าระยะยาวไปแล้ว และให้ความสำคัญกับประเด็นใหม่ ๆ เช่น เศรษฐกิจสีน้ำเงินที่เกี่ยวข้องกับทะเล และ การกำหนดระเบียบระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ ไทยจะเพิ่มความสัมพันธ์กับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลการประกอบธุรกิจและการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสีเขียว ไทยจะเร่งการเจรจาสำคัญ เช่น FTA ไทย-อียู และ ขยายพันธมิตรทางเศรษฐกิจผ่านกรอบความร่วมมือทุกระดับ ทั้งกรอบความร่วมมือเอเชีย (ACD) , ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี เจ้าพระยา แม่โขง (ACMECS) และ ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (BIMSTEC) และ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (BRICS)
นายปานปรีย์ กล่าวว่า ประเทศไทยยังต้องผนึกกำลังกับประเทศในภูมิภาคเอเซีย เพราะปัจจุบันเราอยู่ในศตวรรษแห่งเอเชีย ซึ่งเป็นศูนย์กลางของด้านแรงงานที่มีศักยภาพ เริ่มมีบทบาทของนักลงทุนที่กำลังออกไปลงทุนในต่างประเทศ และกำลังจะก้าวเป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีของตัวเอง เพื่อทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางของการเจริญเติบโตของโลกในอนาคต
“ประเทศไทยต้องสนับสนุนให้เอเชียมีเสถียรภาพ ไม่ใช่เวทีในการเผชิญหน้า แต่เป็นภูมิภาคแห่งความร่วมมือ ความสงบ และที่สำคัญไทยจะสนับสนุนให้อาเซียนมีความเข้มแข็ง มีเอกภาพ เป็นแกนกลางของความร่วมมือในภูมิภาค” นายปานปรีย์ ระบุ
รองนายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการต่างประเทศมีสำนักงานในต่างประเทศ 97 แห่ง ทำงานร่วมกับส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ภายใต้กลไกทีมประเทศไทย โดยในปลายปี 2566 นี้ จะเชิญทูตไทยทั่วโลกมาประชุมระดมสมอง เพื่อวางแผนและแนวทางการขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศต่อไป โดยนโยบายด้านการต่างประเทศจะต้องตอบสนองการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลด้วย
ส่วนแนวนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศ ทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนของประเทศด้วยนั้น รองนายกฯ ยอมรับว่า กระทรวงการต่างประเทศ จะไปจัดลำดับความสำคัญของประเทศ หรือภูมิภาคต่าง ๆ ว่าจะมีแนวทางในการส่งเสริมอย่างไร เพราะแต่ละประเทศก็มีความต้องการในด้านการลงทุนแตกต่างกัน