แจกเงินดิจิทัล 10000 "อุ๊งอิ๊ง" เผยนำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ

11 ต.ค. 2566 | 01:10 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2566 | 01:49 น.

แจกเงินดิจิทัล 10000 “อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร” เป็นนโยบายที่สำคัญอย่างมาก นำไปสู่การจ้างงาน ต่อยอดการสร้างอาชีพ เผยจะทำให้ จีดีพี ของประเทศเติบโตถึง 5%

แจกเงินดิจิทัล 10000 ยังเป็นข้อถกเถียงของสังคมสมควรหรือไม่ที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พรรคเพื่อไทย ประกาศเดินหน้าโครงการแจกเงินให้กับประชาชน เพราะเป็นการสุ่มเสี่ยงสร้างหนี้เพิ่มให้กับประเทศ 

ก่อนหน้านี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ออกมายืนยันเดินหน้าแจกเงินดิจิทัล 10000 และ จะฟังเสียงคัดค้านเช่นเดียวกันเพื่อนำมาปรับปรุงและแก้ไข

ล่าสุด อุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ แจกเงินดิจิทัล 10000 ว่า จากที่ อิ๊งค์ ได้พูดคุยเรื่องนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กับ สส. หลายๆคน  พบว่าคำถามจากประชาชนกลับไม่ใช่ “ควรหรือไม่ควรทำ?” แต่เป็น “นโยบายจะประกาศใช้เมื่อไร?”  

จากคำถามดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า พี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่กำลังรอคอยนโยบายนี้อย่างใจจดใจจ่อ ประกอบกับเศรษฐกิจของประเทศไทยไม่ได้ถูกกระตุ้นในภาพรวมและภาพใหญ่แบบนี้มานานแล้ว  ตอนที่เราออกหาเสียง เราเองรู้ดีว่าเราต้องกำหนดเงื่อนไขต่างๆ เพื่อให้เศรษฐกิจหมุนเวียนได้จริง ทั่วถึงจริง เราถือว่านโยบายนี้สำคัญอย่างมากค่ะ ในขณะเดียวกันนโยบายอื่นๆ ที่ได้เสนอไว้กับพี่น้องประชาชนเราก็ทำควบคู่กันไปด้วย รัฐมนตรีทุกท่านก็แจ้งว่าได้เริ่มดำเนินการไปแล้ว

นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทจะนำไปสู่การจ้างงาน เกิดการสร้างอาชีพ พี่น้องประชาชนทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ล้วนได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน นอกจากจะเป็นการเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้พี่น้องประชาชนแล้ว รัฐบาลเองก็จะได้เงินภาษีกลับมา นำไปสู่การพัฒนานโยบายต่างๆ เพื่อพี่น้องประชาชนต่อไปด้วย

“หากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10000  ทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนและทั่วถึง โครงการนี้กระตุ้นเศรษฐกิจแล้วยังสามารถยกระดับชีวิตพี่น้องคนไทย เป็นนโยบายสำคัญอย่างมากอีกด้วย” อุ๊งอิ๊ง กล่าว

ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยในที่ประชุมพรรคเพื่อไทย  ว่า สส.พรรคเพื่อไทย ได้สอบถามแจกเงินดิจิทัล 10000  ทำเมื่อไหร่ตอนนี้ประเทศไทยกำลังจะเห็นแสงปลายอุโมงค์ จีดีพี เติบโต 5%   ประชาชนรอความหวังแจกเงินดิจิทัล แม้อีกฝั่งยับยั้ง แต่เอกชนอยากเห็นเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจไทยไม่เข้มแข็ง กระทรวงการคลังมองเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ หากไม่เกิดการกระตุ้นอนาคตของประเทศไทยเติบโตไม่ทันสวัสดิการ 

วันนี้เศรษฐกิจประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ที่เข้มแข็ง มุมมองที่เสนอออกมาเป็นมุมมองในการรักษาเสถียรภาพเป็นหลัก แต่กระทรวงการคลังและรัฐบาลมีเครื่องมือทางการคลังที่จะกระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ขณะนี้ทุกคนรู้ว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ถ้าปล่อยให้ไทยโตเฉลี่ยไม่เกิน 2% เหมือนที่ผ่านมา เราจะถึงจุดที่แตกหัก คือ รายรับของรัฐไม่สามารถเติบโตทันสวัสดิการที่เราต้องให้กับประชาชน และเราเติบโตต่ำกว่าประเทศในภูมิภาค ฉะนั้น รัฐบาลมองว่า เราต้องเติบโตตามศักยภาพ ต้องดึงไทยกลับไปเติบโตที่ 5% เป็นระดับที่เหมาะสมเป็นอย่างต่ำ

 กลไกที่จะใช้ หนึ่งในนั้นคือนโยบายเงินดิจิทัล แต่ไม่ใช่เพียงอย่างเดียว รัฐบาลมีนโยบายที่ครอบคลุมในหลายมิติ เช่น การลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของราคาไฟฟ้า ราคาน้ำมันดีเซล และวีซ่าฟรีให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงนโยบายที่เราจะแก้ไขกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดในการประกอบอาชีพของประชาชน ฉะนั้นเวลาดูนโยบาย ต้องดูเป็นแพคเกจใหญ่

ด้านเงินเฟ้อ จะไม่กระทบมาก เพราะช่วงที่ผ่านมามีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จาก 1.25 เป็น 2.50 ซึ่งสามารถหยุดยั้งสถานการณ์เงินเฟ้อในระดับที่น่าพึงพอใจ เป็นนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย เงินเฟ้อจากระดับ 5% เหลือ 0.3 ต่อให้มีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตเข้าไป เราก็มีกลไกในการควบคุมกำกับดูแลให้อยู่ในระดับเหมาะสม.