"กทพ." เล็งดึงทอท.ร่วมทุน สร้างทางด่วน ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 2.9 หมื่นล้าน

11 ต.ค. 2566 | 11:19 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2566 | 11:26 น.

"กทพ." เปิดซาวด์เสียงประชาชน ดันทางด่วน ศรีนครินทร์-สนามบินสุวรรณภูมิ 2.9 หมื่นล้านบาท จ่อดึงทอท.ร่วมทุน ดึงผู้โดยสารสนามบินใช้บริการ ลุ้นครม.ไฟเขียว ภายในปี 68

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (การปฐมนิเทศโครงการ) งานศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ว่า หลังจากดำเนินการจัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้วเสร็จทั้งหมด 5 ครั้ง จึงจะดำเนินการศึกษาออกแบบโครงการ คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 1 ปี หรือแล้วเสร็จประมาณเดือนกันยายน 2567

\"กทพ.\" เล็งดึงทอท.ร่วมทุน สร้างทางด่วน ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 2.9 หมื่นล้าน

ขณะเดียวกันจะดำเนินการศึกษาและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ควบคู่กับดำเนินการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเสนอขออนุมัติครม.ได้ในปี 2568 หลังจากนั้นก็จะดำเนินการประกวดราคาในปี 2569 และจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2570 ใช้ระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการในปี 2573

"ส่วนการศึกษาการดำเนินการลงทุนโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น เบื้องต้นกทพ. ต้องเจรจากับทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ก่อน เนื่องจากทาง สจล.มีความกังวลเรื่องทัศนียภาพ และการขึ้นลงทางพิเศษจะส่งผลกระทบทำให้การจราจรติดขัด เนื่องจากทางขึ้นลงอยู่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนลาดกระบัง ซึ่งปัญหาเรื่องนี้ต้องได้ข้อสรุปก่อนกทพ. ถึงจะดำเนินการศึกษาออกแบบ"

\"กทพ.\" เล็งดึงทอท.ร่วมทุน สร้างทางด่วน ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 2.9 หมื่นล้าน

นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เดิมเป็นโครงการอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ทล. และได้มีการโอนให้ กทพ. เป็นผู้ดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2565 จากที่ทล. เคยดำเนินการศึกษาในเบื้องต้นมีกรอบวงเงินลงทุน 29,500 ล้านบาท โครงการมีระยะทาง 18 กม. โดยการดำเนินการศึกษาของ กทพ. จะพยายามออกแบบให้มีกรอบวงเงินลงทุนลดลงจากที่กรมทางหลวงศึกษาไว้

ขณะที่รูปแบบการลงทุนนั้นต้องดำเนินการศึกษาออกแบบให้แล้วเสร็จก่อนถึงจะบอกได้ว่าจะเป็นรูปแบบใดระหว่างการลงทุนเอง หรือเปิดโอกาสให้เอกชนมาร่วมลงทุน

\"กทพ.\" เล็งดึงทอท.ร่วมทุน สร้างทางด่วน ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 2.9 หมื่นล้าน

 ทั้งนี้โครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หากดำเนินการแล้วเสร็จ จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดช่วงจุดตัดศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน และบรรเทาปัญหาการจราจร บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 รวมทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้เดินทางยิ่งขึ้น

 

 นอกจากนี้กทพ.ได้กำหนดแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อาทิ การกำหนดขอบเขตพื้นที่ก่อสร้างอย่างชัดเจน การกำหนดระยะเวลาก่อสร้างที่แน่นอน ไม่ยืดเยื้อ การกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบด้านฝุ่น เสียง แรงสั่นสะเทือน เป็นต้น

\"กทพ.\" เล็งดึงทอท.ร่วมทุน สร้างทางด่วน ศรีนครินทร์-สุวรรณภูมิ 2.9 หมื่นล้าน

 แหล่งข่าวจากกทพ. ระบุว่า การดำเนินโครงการทางพิเศษสายศรีนครินทร์ – ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นั้น โดยส่วนตัวมองว่า บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT มีศัยกภาพที่ดีและเหมาะมากกับการเป็นผู้ร่วมลงทุน โดยทางผู้ว่าการ กทพ. มีแผนที่จะไปหารือกับนายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ให้มาร่วมลงทุนในโครงการนี้ด้วย เพราะมองว่าเป็นประโยชน์กับทางทอท. มาก ทั้งในแง่ของปริมาณผู้โดยสารและการเดินทาง