เงินดิจิทัล 10000 ยังคงเป็นที่มาของคำถามว่าสมควรจะเดินหน้าหรือไม่เพราะมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "การแจกเงินดิจิทัลวอลเลต ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?" ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2566 เผย ประชาชนกังวลเงินดิจิทัล 10000 ส่วนใหญ่อยากให้ไปต่อ แต่ต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์
แม้จะมีเสียงคัดค้านแต่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประกาศจุดยืนชัดเจนเดินหน้าเงินดิจิทัล 10000 ภายหลังจากลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพิษณุโลก
ในเพจพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความของ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หลังจากลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพิษณุโลกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า นโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลจะมีประโยชน์กับพี่น้องประชาชนโดยสามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพตั้งตัวได้ พร้อมวิงวอนว่าอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับดิจิทัลวอลเล็ต อยากอธิบายให้ฟังว่า สมมุติวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 คนที่อายุ 16 ปีขึ้นไปได้คนละ 10,000 บาท บ้านไหนมี 3 คน 5 คนเอาไปตั้งตัวได้เลย คิดดูว่าจะมีประโยชน์มากแค่ไหน และเงินที่ได้ไปใช้ในกรุงเทพฯ ไม่ได้ ต้องใช้ในเขตที่ท่านอยู่ จะช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว
โครงการนี้มีหลายท่านไม่เห็นด้วย แต่ตนก็ไม่เห็นด้วยกับคนที่ไม่เห็นด้วย แต่เรารับฟังความคิดเห็น เพราะเราเป็นรัฐบาลของประชาชน รับฟังแล้วปรับให้ดีให้เป็นนโยบายที่โดนใจทุกคน คิดดูว่าถ้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 มีเงิน 5.6 แสนล้านเข้าไปในระบบ ถ้าเป็นภาคอุตสาหกรรมจะเตรียมสินค้าออกมารองรับหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มหรือไม่ เงินจะอยู่ในกระเป๋าประชาชนมากขึ้นแค่ไหนอย่างไร
“ท่านอย่ายอมให้คนที่ไม่เห็นด้วยโดยไม่มีเหตุผลมายับยั้งโครงการนี้ ถ้าชอบก็ขอให้พูดบ้าง ให้เปล่งเสียงออกมาบ้าง เรื่องลดค่าไฟค่าน้ำมันต้องพูด อย่างภาคอุตสาหกรรมที่ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน ท่านต้องออกมาพูดว่า ท่านมีความสุข ดีใจที่รัฐบาลนี้ทำให้ เราเองก็เป็นคนเหมือนกัน ต้องการขวัญและกำลังใจเหมือนกัน บางคนที่มาด้วยกันวันนี้ก็อยากอยู่บ้าน แต่วันนี้เข้าใจปัญหาประชาชนก็มารับฟังปัญหา เราไม่ได้มาหาเสียงแต่เรามาทำงานจริง” นายกรัฐมนตรี กล่าว
“ผมทราบดีว่า โครงการ Digital Wallet นั้นมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เราในฐานะรัฐบาลของประชาชนจึงรับฟังทุกความเห็นเพื่อเอามาปรับให้ดีและตรงใจทุกคน ผมอยากให้เราลองนึกภาพไปด้วยกันว่า ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้มีเงินเข้ามาในระบบ 560,000 ล้านบาท ถ้าท่านเป็นภาคอุตสาหกรรมท่านจะผลิตสินค้ามารองรับไหม จะต้องซื้อวัสดุเพื่อมาผลิตสินค้าเตรียมขายหรือไม่ จะมีการจ้างคนเพิ่มไหม แล้วเงินจะเข้ามาอยู่ในกระเป๋าของพี่น้องประชาชนเท่าไหร่ เราตั้งใจให้เงินถูกเอาไปใช้ในพื้นที่ตามบัตรประชาชนของท่าน เพื่อช่วยพัฒนาชุมชนที่ท่านอยู่ ไม่ใช่พัฒนาเมืองใหญ่อย่างเดียว
ขณะที่นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธาน คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10000 ประชุมนัดแรก เพื่อพิจารณาถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้ดำเนินโครงการ และหลักเกณฑ์รัศมีการใช้จ่ายเงินในโครงการ
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10000 นัดประชุมในรอบที่ 2 วันที่ 19 ตุลาคม 2566 ถัดจากนั้นจะนำมาเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ คาดจะได้ข้อสรุปโดยเร็วภายใน 2 สัปดาห์.