ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "การแจกเงิน
ดิจิทัลวอลเลต ควรไปต่อหรือพอแค่นี้?" ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2566 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง
เกี่ยวกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ นิด้าโพล สุ่มตัวอย่าง ด้วยวิธีแบบง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0
จากการสำรวจเมื่อถามถึงความกังวลของประชาชนต่อนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ว่าอาจจะทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย
กับประเทศ (เช่น เกิดภาวะเงินเฟ้อ ข้าวของแพงขึ้น ไม่กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ) ตามคำเตือนของ 99 นักวิชาการและคณาจารย์เศรษฐศาสตร์ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 30.92 ระบุว่า ค่อนข้างกังวล รองลงมา ร้อยละ 28.47 ระบุว่า ไม่กังวลเลย ร้อยละ 25.27 ระบุว่า กังวลมาก ร้อยละ 15.19 ระบุว่า ไม่ค่อยกังวล และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการดำเนินนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 47.10 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อ แต่ควรมีการปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน รองลงมา ร้อยละ 32.52 ระบุว่า ดำเนินนโยบายต่อตามที่ได้หาเสียงไว้ ร้อยละ 18.85 ระบุว่า ควรหยุดการดำเนินการในนโยบายนี้ได้แล้ว และร้อยละ 1.53 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ส่วนการรับเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท ของประชาชน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 79.85 ระบุว่า รับเงินและนำไปใช้จ่าย รองลงมา ร้อยละ 13.51 ระบุว่า ไม่รับเงิน ร้อยละ 5.42 ระบุว่า รับเงิน แต่ไม่นำไปใช้จ่าย และร้อยละ 1.22 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนต่อคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย หากรัฐบาลยกเลิกนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 60.00 ระบุว่า ส่งผลกระทบให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยลดลง รองลงมา ร้อยละ 29.92 ระบุว่า
ไม่ส่งผลกระทบใด ๆ กับคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.49 ระบุว่า ส่งผลให้คะแนนนิยมพรรคเพื่อไทยเพิ่มขึ้น และร้อยละ 3.59 ระบุว่า
ไม่ทราบ/ ไม่ตอบ/ไม่สนใจ