4 ทางเลือก “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” กับผลกระทบ ศก. เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน

15 ต.ค. 2566 | 04:24 น.
อัปเดตล่าสุด :16 ต.ค. 2566 | 08:38 น.

นโยบายรัฐบาลเศรษฐา ที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ล้นหลามมาก ขณะนี้มี 2 นโยบายคือ นโยบายพักหนี้เกษตรกร และนโยบายการแจกเงินดิจิทัล

บทความนี้จะขอเสนอทางเลือกสำหรับ “นโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท”  ที่เป็นหนึ่งนโยบายหลักในการหาเสียงพรรคเพื่อไทย และเป็นประโยคต้น ๆ ที่อยู่ในคำแถลงนโยบายของนายกฯ เศรษฐา วงเงินที่ใช้คือ 560,000 ล้านบาท คำนวณจากจำนวนคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56 ล้านคน คูณกับ 10,000 บาท

นโยบายดังกล่าวมีการคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน 10,000 บาท จากนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ และอดีตผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ประเด็นที่ไม่เห็นด้วยได้แก่ เงินเฟ้อ กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ตามเป้า เศรษฐกิจไทยไม่ได้แย่ขนาดที่ต้องกระตุ้น และทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น รัฐบาลหากไม่ทำนโยบายนี้ ผมคิดว่า “รัฐบาลเสียคน โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย” เพราะไม่ทำตามที่หาเสียงเอาไว้

ผมขอเสนอ 4 ทางเลือกคือ แนวทางที่ 1 “เดินหน้าต่อตามนโยบาย” ไม่ต้องฟังเสียงคัดค้าน มีเป้าหมายชัดเจนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และที่สำคัญเป็นนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้กับรัฐสภา แนวทางนี้ใส่เงินเข้าไปในระบบเต็มสูบ 560,000 ล้านบาท ทำให้เกิดมูลค่า GDP ณ ราคาตลาด 0.9 – 1.1 ล้านล้านบาท แต่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 3.5-4.0% ครัวเรือนไทยเป็นหนี้เพิ่มจาก 473,900 บาท/ครัวเรือน เป็น 498,200 บาท/ครัวเรือน  ถือว่าแนวทางที่ 1 นี้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ต้องยอมรับผลกระทบด้านอื่นที่จะตามมาเช่นกัน  

แนวทางที่ 2 ลดเพดานบิน ปรับเกณฑ์ให้กับครอบครัวคนจน ปี 2565 ครัวเรือนไทยมีทั้งหมด 23 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนยากจน 2 ล้านครัวเรือน หากมีสมาชิกครัวเรือนละ 3 คน รัฐบาลใช้เงินเพียง 6 หมื่นล้านบาท ประหยัดไป 5 แสนล้านบาท ยังมีเงินเหลือเพื่อไปพัฒนาประเทศด้านอื่น ๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ หรือพัฒนาศักยภาพแรงงาน แต่กรณีนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจจะน้อยตามไปด้วย หนี้ครัวเรือนไทย และเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นไม่มาก

แนวทางที่ 3 กระตุ้นเศรษฐกิจกลับด้าน หันไปใส่เงินให้ภาคการผลิตแทน เช่น การเพิ่มศักยภาพของแรงงาน หากพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขึ้น 1% จะทำให้ศักยภาพของแรงงานเพิ่มขึ้น 0.35% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา (2002-2022) ประสิทธิภาพแรงงานไทยต่ำกว่าเวียดนามมาโดยตลอด และมีค่าที่แตกต่างกันมากยิ่งขึ้น เมื่อใส่เงินเข้าไปในกลุ่มแรงงาน โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเพิ่มศักยภาพในการผลิต รายงานของ IMD 2017 พบว่า ทำให้อัตราการขยายตัวของ GDP ต่อแรงงานเพิ่มขึ้น 4%

และ แนวทางที่ 4 ถอยดีกว่า คือยกเลิกไปเลย แนวทางนี้ถือว่าไม่เกิด เพราะนายกฯ เศรษฐา ยืนยันชัดเจนว่า “ไม่มีการยกเลิกแจกเงิน 10,000 บาท”

4 ทางเลือก “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” กับผลกระทบ ศก. เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าประเทศไทยจะเลือกแนวทางไหน 1.ทุกแนวทางมีต้นทุนที่ต้องจ่ายเสมอ การทำเงินไปทำอีกหนึ่ง ย่อมเสียโอกาสไปทำอีกอย่าง 2.เงินที่มาใช้ในโครงการนี้ ต้องกู้แน่นอน ซึ่งจะเป็นภาระของประเทศต่อไปในอนาคต เว้นเสียแต่ว่า ในแนวทางที่ 1 นั้น รัฐบาลสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจให้มีอัตราการขยายตัวปีละ 3.5-4% ก็จะทำให้มูลค่า GDP เพิ่มปีละประมาณ 7 แสนล้านบาท หากรัฐบาลอยู่ได้ 4 ปี มูลค่า GDP เพิ่มเท่ากับ 2.7 ล้านล้านบาท ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ลดลงไปอยู่ที่ 62% เหมือนเดิม

4 ทางเลือก “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” กับผลกระทบ ศก. เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน

3.ความโปร่งใสในการบริหารการจัดการ ให้สังคมและประชาชนไทยสามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมาก เพราะสังคมไทยกังวลต่อโครงการที่ใช้เงินมหาศาล ว่าจะเกิดการโกงขึ้น 4.กู้จากรัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของรัฐฯ เท่านั้น รัฐบาลไม่ควรกู้อีกต่อไป เพราะตลอด 30 ปี ของหนี้สาธารณะไทย หนี้รัฐบาลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 50% เป็น 80% (ปี 2566) ในขณะนี้ของรัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินของรัฐฯ บริหารจัดการหนี้ได้ดี และหนี้ลดลงอย่างต่อเนื่อง 

4 ทางเลือก “แจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท” กับผลกระทบ ศก. เงินเฟ้อ หนี้ครัวเรือน

บทความโดย : รศ.ดร.อัทธ์  พิศาลวานิช ที่ปรึกษาอาวุโส บจก.อินเทลลิเจนท์ รีเสิร์ช คอนซันแตนท์ (ไออาร์ซี)