วันนี้ (16 ตุลาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบการปรับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาท ตามนโยบาย รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ของรัฐบาล โดยเริ่มต้นก่อน 2 สาย ประกอบด้วย
"ในรายละเอียดจะให้รมว.คมนาคมชี้แจงอีกครั้ง ส่วนการดำเนินการในรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ รัฐบาลกำลังพิจารณา"
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง เปิดเผยว่า วันนี้ เวลาประมาณ 11.00 น. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จะเดินทางไปเปิดใช้อย่างเป็นทางการ ที่สถานีกลางบางซื่อ
นายสุริยะ กล่าวว่า เบื้องต้นผู้ว่าการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่าระบบมีความพร้อมแล้ว คาดว่า 11.00 น. หรือไม่เกิน 13.00 น. ระบบก็สามารถใช้งานได้
สำหรับผู้โดยสารที่เปลี่ยนรถไฟฟ้าหรือข้ามระบบยังต้องชำระค่าโดยสารสองรอบ แต่การข้ามระบบมีผู้ใช้เพียง 300 คนต่อวันเท่านั้น ซึ่งยังจะต้องใช้ระยะเวลาอีกเล็กน้อย เนื่องจากขณะนี้กระทรวงคมนาคมได้ให้ธนาคารทำระบบให้สามารถเชื่อมโยงได้ คาดว่าประมาณวันที่ 1 พ.ย. จะสามารถใช้บริการข้ามสายได้
ต่อมา นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีอนุมัติ มาตรการอัตราค่าโดยสารสูงสุด 20 บาท ตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาล เพื่อช่วยลดภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน ดังนี้
1.อนุมัติมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟชานเมืองสายสีแดง 20 เฉพาะสายนครวิถี (กรุงเทพอภิวัฒน์ – ตลิ่งชัน) และสายธานีรัถยา (กรุงเทพอภิวัฒน์ – รังสิต) (เริ่มต้นเมื่อระบบมีความพร้อม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567)
2.เห็นชอบหลักการมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สูงสุด 20 บาท ตามนโยบายรัฐบาล (เริ่มต้นเมื่อระบบมีความพร้อม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2567)
3.ให้กระทรวงคมนาคมประเมินผลการดำเนินมาตรการเป็นรายปี โดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ปริมาณผู้โดยสารและรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อภาระการชดเชยจากภาครัฐและคำนึงถึงความสะดวกสบายในการเดินทางและการช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาดำเนินมาตรการดังกล่าวในปีถัดไป
ส่วน การขอรับชดเชยค่าดำเนินการของ รฟท. ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีแดง เมื่อสิ้นสุดมาตรการแล้วให้เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามส่วนต่างรายได้ที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งเบื้องต้น รฟท.เสนอขอรับเงินชดเชยประมาณ 6.43 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 77.15 ล้านบาทต่อปี
ส่วนกรณี รฟม.ซึ่งกำกับดูแลรถไฟฟ้าสายสีม่วง ไม่ขอรับเงินชดเชยรายได้ของภาครัฐโดยตรงแต่จะนำเงินส่วนแบ่งรายได้จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่มีกำไรมาชดเชย