ระหว่างที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำลังปฎิบัติหน้าที่นักขาย หรือ เซลส์แมน มืออาชีพ เดินหน้าเจรจาดึงดูดการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งก่อนหน้าที่จะเดินทางเยือนจีนครั้งนี้ ก็ได้มีการแถลงคำมั่นเกี่ยวกับโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท กับประชาชนเอาไว้ว่า จะเกิดขึ้นแน่นอน ซึ่งจนถึงปัจจุบัน มีความชัดเจนแล้วว่า ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อเดินหน้าเรื่องนี้ แต่เรื่องแหล่งที่มาของเงิน และเงื่อนไขการใช้หรือแจกเงินก็ยังไม่ชัดเจน
ขณะที่นักวิชาการจำนวนมากยังคงเดินหน้าออกมาคัดค้านโครงการนี้ โดยหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ คือการแจกเงินรอบนี้อาจมีบางส่วนที่รั่วไหลออกนอกประเทศ เพราะไทยมีการนำเข้าสินค้าค่อนข้างมากพอสมควร หรือถ้าผลิตเองก็จะมีรายละเอียดวัตถุดิบบางประการที่อาจจะนำเข้าจากต่างชาติ หากประชาชนใช้จ่ายในสินค้าเหล่านี้ก็จะมีเงินบางส่วนไหลออกนอกประเทศ ดังนั้น รัฐบาลควรกำหนดเงื่อนไขการใช้เงินให้ชัดเจน
นายนณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวกับฐานเศรษฐกิจ ว่า เรื่องนี้สามารถวิเคราะห์ออกมาได้ 2 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
ทั้งนี้ ส่วนตัว และนักวิชาการหลายคน มีความคิดเห็นคล้ายกัน ว่า ถ้าวิเคราะห์ตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ไม่ค่อยสนับสนุนการนำเงินดิจิทัลที่แจกในประเทศไปซื้อสินค้าที่มีสัดส่วน Import Content สูง รวมถึงไม่สนับสนุนการนำเงินไปซื้อสินค้านำเข้าอยู่แล้ว แต่เมื่อนำมาปฎิบัติจริง เชื่อว่าสามารถกำหนดประเภทของสินค้าได้ยาก เพราะความต้องการซื้อของคนไทยมีความหลากหลาย รัฐบาลต้องเป็นผู้กำหนดเรื่องนี้ให้ชัดเจน
“ถ้าเขาเอาเงินไปซื้อสมาร์ทโฟน ทีวี อุปกรณ์ไอที เงินไหลออกนอกประเทศแน่ ๆ แต่ประเด็นคือ ซื้อแล้วเอาไปทำอะไร มีผลให้กับประชาชนรายนั้นอย่างไร ซื้อแล้วนำไปต่อยอดงานหรือธุรกิจที่ทำไหม ดังนั้น การต่อยอดจากของที่ซื้อ ก็เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณา ถ้าจะคุยกันในเรื่องนี้ ส่วนเงินจะไหลออกนอกประเทศมากน้อยเพียงใด ไม่สามารถคำนวณได้เลย”
อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องการคำนวณผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในโครงการเงินดิจิทัล 10,000 บาท นั้น ไม่ได้มีปัจจัยของสินค้า Import Content เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่แล้ว การกระจายตัวของเงิน จะขึ้นกับความสามารถในการกระจายตัวของเงิน ประกอบกับช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยสถานการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม การกระจายตัวของเงิน จึงไม่น่าส่งผลต่อเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร น่าจะหมุนเวียนในระบบได้ไม่ถึง 1 รอบตามที่วิเคราะห์ไว้ก่อนหน้านี้ ดังนั้น ยืนยันว่า โครงการเงินดิจิทัล ยังคงได้ไม่คุ้มเสีย หากเทียบกับการลงทุนจากภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ตัวคูณจะเยอะกว่ามาก