นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวระหว่างเสวนาหัวข้อถอดรหัสแผนที่การเงินครัวเรือนไทย สร้าง Financial Well-being จัดโดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ว่า ในระยะหลัง สภาพัฒน์ได้หันมาทำนโยบายเศรษฐกิจในเชิงระดับไมโคร หรือ ระดับพื้นที่มากขึ้น ซึ่งพบประเด็นในแง่การก่อหนี้ของประชากร
โดยปัจจุบันนี้ คนเราเป็นหนี้เร็ว นานขึ้น และยังมีทัศนคติที่เปลี่ยนไป ซึ่งกล้าเป็นหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มีวลีหลัก คือ “ของมันต้องมี” แต่ในแง่รายได้นั้น ไม่มี ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินเพื่อนำมาบริโภค
“สิ่งหนึ่งที่คิดเรื่องการพัฒนาทักษะทางการเงิน คือ การปรับทัศนติทางการเงิน คิดว่า ทุกวันนี้ คนเราเป็นหนี้เร็ว และ นานขึ้น ทั้งทัศนคติที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ซึ่งมีวลีหลัก คือ ของมันต้องมี แต่ว่า ตังค์ไม่มี จะทำอย่างไร ก็กู้ บัตรเครดิต"
ทั้งนี้ สุดท้ายบัตรเต็ม ก็ไปบัตรเงินสด ทำให้หนี้พอก ซึ่งเรื่องนี้อันตรายเป็นอย่างมาก โดยหากมีระบบที่จะเข้าไปพัฒนาทักษะทางการเงิน และหากมีความเป็นไปได้ อยากให้แยกช่วงอายุ เพื่อให้สามารถดึงกลุ่มเป้าหมายแต่ละส่วนออกมา มาให้ความรู้ความเข้าใจได้ตรงกลุ่มมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ พบว่า หนี้สินส่วนใหญ่ที่ก่อขึ้นนั้น เป็นหนี้อุปโภคบริโภคทั้งนั้น โดยในจำนวนหนี้ครัวเรือน 15.9 ล้านล้านบาท จะเป็นหนี้ที่มีความมั่นคง เช่น ที่อยู่อาศัยเพียง 30-40% เท่านั้น ที่เหลือเป็นเรื่องการบริโภค
อย่างไรก็ตาม มีหลายคนบอกว่า หนี้บริโภคนั้น ทางเอสเอ็มอีก็ใช้บัตรเครดิตไปทำธุรกิจเหมือนกัน ก็ถูกตีเป็นหนี้บริโภค ซึ่งหากสามารถแยกกลุ่มเหล่านี้ได้ก็ดี เนื่องจากการอนุมานแบบนั้น ก็ไม่ได้แยกขาด ดังนั้น ที่ผ่านมา หนี้เพื่อการบริโภคจึงมีสัดส่วนเพิ่มเรื่อยๆ โดยเฉพาะหนี้รถยนต์ก็เพิ่มอีก ก็น่าเป็นห่วง
“ฉะนั้น ถ้าระบบของสศค.ที่จะเพิ่มทักษะทางการเงิน จะช่วยประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ได้เข้าถึงองค์ความรู้พวกนี้ ให้ช่วยเหลือตัวเอง และสามารถปรับทัศคติมาออมเพื่อวัยเกษียณมากขึ้น ก็จะเป็นเรื่องที่ดี”