จับตา พาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออก เดือนก.ย. 2566 ลุ้นบวกต่อเดือนที่ 2

23 ต.ค. 2566 | 11:20 น.

พาณิชย์ แถลงตัวเลขการส่งออก เดือนก.ย. 2566 พร้อมตัวเลขส่งออกรวม 9 เดือน วันพรุ่งนี้ (24 ตุลาคม) ลุ้น การส่งออกของไทย จะขยายได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หรือไม่

รายงานข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 ตุลาคม 2566 เวลา 10.00 น. นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นผู้แถลงภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย ในเดือนกันยายน 2566 และช่วง 9 เดือนของปี 2566 ซึ่งต้องติดตามว่าการส่งออกของไทยในเดือนกันยายน 2566 จะขยายได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 หรือไม่ 

หลังจากตัวเลขการส่งออกของไทย เมื่อเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ตัวเลขการส่งออกกลับมาขยายตัวเป็นบวกครั้งแรกในรอบ 11 เดือน โดยมีมูลค่ามูลค่า 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 824,938 ล้านบาท ขยายตัว 2.6%

อย่างไรก็ตามหากดูจากตัวเลขการส่งออกเดือนกันยายน 2565 ที่มีมูลค่า 24,919.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (888,371 ล้านบาท) นั้นถือว่าเป็นฐานที่สูงอย่างมาก

 

ภาพประกอบข่าว การส่งออก ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า แม้การส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมจะกลับมาขยายตัวเป็นบวก 2.6% เป็นครั้งแรกในรอบปีนี้ ขณะที่ภาพรวมการส่งออกไทยช่วง 8 เดือน ปี 2566 ยังติดลบที่ 4.5%

โดย สรท. ประเมินการส่งออกไทยทั้งปีนี้จะอยู่ในกรอบ -1.0% ถึง -1.5% จากปัจจัยเสี่ยงส่งออกไทยยังมีอยู่มาก ทั้งจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก ไม่ว่าจะเป็น จีน สหรัฐฯ สหภาพยุโรปยังอยู่ในภาวะชะลอตัว สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังยืดเยื้อ ล่าสุดมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เพิ่มจากสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาสที่ปะทุขึ้นและต้องจับตาว่าจะขยายวงหรือไม่ หากขยายวงอาจส่งผลกระทบต่อการค้าไทย-ตะวันออกกลางตามมา

“ปัจจัยบวกส่งออกไทยเวลานี้ มีเรื่องเดียวคือเงินบาทที่อ่อนค่าที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยต้นปีที่ผ่านมา สรท.คาดการณ์ส่งออกจะขยายตัวได้ที่ 1% แต่มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบทำให้ต้องลดคาดการณ์ลง ส่วนแนวโน้มส่งออกไทยในปี 2567 ยังคาดเดาได้ยาก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ มากขึ้น ต้องรอดูสถานการณ์ในเดือนธ.ค.น่าจะชัดเจนและตั้งเป้าหมายได้” นายชัยชาญ ระบุ

 

ภาพประกอบข่าว การส่งออก ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย

ด้าน ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่า  การส่งออกสินค้าไทยที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวและคาดว่าจะกลับมาขยายตัวชัดเจนขึ้นในไตรมาส 4 จากราคาสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นตามภาวะเอลนีโญ ราคาสินค้าส่งออกเกี่ยวกับพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงผลจากปัจจัยฐานต่ำ

ส่วน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มเร่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และปีหน้า จากราคาสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและนโยบายจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรของบางประเทศ รวมถึงราคาพลังงานที่คาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงจากการขยายระยะเวลาลดกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ และความไม่แน่นอนของสงครามในอิสราเอลฯ 

อย่างไรก็ดี แรงกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงและมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ โดยเฉพาะด้านพลังงาน จะมีส่วนช่วยให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะข้างหน้าเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายได้

ขณะที่ นายบุรินทร์ อดุลวัฒนะ กรรมการผู้จัดการ และ Chief Economist บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ขณะนี้ เศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับการค้าโลก สะท้อนจากภาคการผลิตที่ชะลอตัวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจเยอรมนี ที่พึ่งพาการส่งออกสูง ทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มโตต่ำกว่าคาด 

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับลดประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.0% จาก 3.7% จากการที่เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนยังชะลอตัวต่อเนื่อง ส่งผลกระทบกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่มองว่าจะเข้ามาเพียง 27.6 ล้านคนในปี 2566 และการส่งออกสินค้าที่จะหดตัว 2.5% มากกว่าที่เคยประเมินไว้ที่ -1% 

 

ภาพประกอบข่าว การส่งออก ภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย

 

ก่อนหน้านี้ กระทรวงพาณิชย์ ประกาศตัวเลขส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคม 2566 ได้พลิกกลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน โดยมีมูลค่า 24,279.6ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 824,938 ล้านบาท ขยายตัว 2.6% หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัว 3.9% ได้รับแรงหนุนจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลกที่ดีขึ้นกว่าเดือนก่อนหน้า

แม้ว่าจะยังอยู่ระดับต่ำกว่าปกติ การใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามภาคบริการของประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกที่เกี่ยวเนื่อง รวมทั้งการส่งเสริมนโยบายพลังงานสะอาดและความต้องการสินค้าเทคโนโลยีทำให้หมวดสินค้าอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวอีกครั้ง 

ประกอบกับการอ่อนค่าของเงินบาทในระดับที่เหมาะสมส่งผลดีต่อการส่งออก ตลาดคู่ค้าสำคัญฟื้นตัวได้ดี อาทิ สหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้โดยการส่งออกของไทยในเดือนนี้ยังทำได้ดีกว่าหลายประเทศในภูมิภาค และกลับมาเกินดุลการค้าอีกครั้ง 

ขณะที่ มูลค่าการค้ารวม พบว่า มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนสิงหาคม 2566 การส่งออกมีมูลค่า 24,279.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 2.6% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้ามีมูลค่า 23,919.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 12.8% ดุลการค้า เกินดุล 359.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ทำให้ภาพรวม 8 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 187,593.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 4.5% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 195,518.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 5.7% ดุลการค้า 8 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 7,925.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ