นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต ยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุป คือ เรื่องของแหล่งเงิน ยังคงยืนยันว่า จะใช้เงินจากงบประมาณแผ่นดินเป็นหลัก คือใช้เงินในพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณแผ่นประจำปี 67 และดำเนินการเป็นลักษณะของงบผูกผัน ซึ่งจะมีการเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานอีกครั้ง
โดยตั้งระยะเวลาโครงการเงินดิจิทัลไว้ราว 4 ปี ใช้เงินงบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ทำให้อาจจะต้องมีการชะลอการขึ้นเงินของร้านค้าบ้าง โดยใช้วิธีการจูงใจในร้านค้ายังคงอยู่ในระบบต่อเนื่องตลอดโครงการ ยิ่งใครอยู่นานก็จะยิ่งไม่สิทธิประโยชน์ ซึ่งจะมีการพิจารณารายละเอียดการจูงใจให้ร้านค้าในอยู่ระบบต่อไป
สำหรับการดำเนินงานในช่วงเริ่มต้นของโครงการที่จะใช้ พ.ร.บ.งบประมาณปี 2567 นั้น อาจจะให้โครงการเติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ดำเนินการได้ล่าช้า ตามที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณมีผลบังคับใช้ล่าช้า จึงเป็นไปได้ว่าโครงการเติมเงินดิจิทัล จะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงเดือน เมษายน-พฤษภาคม 2567
ขณะที่แหล่งเงินจากทางเลือกอื่นๆ อาทิ เงินกู้นั้น คณะอนุกรรมการ มีความเห็นว่าจะใช้เป็นช่องทางสุดท้าย ส่วนการใช้มาตรการกึ่งการคลัง หรือเงินนอกงบประมาณ ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ปี 2561 นั้น ก็เลือกเป็นทางเลือกสุดท้ายเช่นกัน
“จากกระแสข่าวที่จะใช้เงินจากธนาคารออมสิน และชดเชยตาม ม.28 นั้น ยืนยันธนาคารออมสินไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวแล้ว อย่างไรก็ดี ที่ไม่ใช้เงินจากออมสิน เนื่องจาก ติดขัดเรื่องกฎหมาย ที่ทำให้รัฐบาลไม่มีอำนาจในการดำเนินการด้วย เพราะฉะนั้น จึงเลือกแหล่งเงินจากงบประมาณเป็นหลัก”
ส่วนผู้ที่จะเข้ามาพัฒนาระบบแอปการจ่ายเงินดิจิทัลนั้น ที่ประชุมมีมติให้ธนาคารกรุงไทยเป็นผู้ดำเนินการพัฒนาระบบ เพราะเป็นหน่วยงานที่มีความพร้อม และมีแพลตฟอร์มในการรองรับ ซึ่งสะดวกต่อการพัฒนา ยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายในการจัดทำระบบต่ำกว่า 12,000 ล้านบาท และการพัฒนาระบบแอปของรัฐในอดีตที่ผ่านมาก็ใช้งบประมาณไม่ถึงหลักหมื่นบาท