“เศรษฐา” ถกด่วนเงินดิจิทัล 10000 บ่ายวันนี้ ขีดเส้น 10 พ.ย.เคลียร์จบ

03 พ.ย. 2566 | 05:46 น.
อัปเดตล่าสุด :03 พ.ย. 2566 | 05:52 น.

นายกฯ “เศรษฐา” เรียกหน่วยงานประชุมด่วนบ่ายวันนี้ เช็คความคืบหน้าถึงนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10000 บาท ขีดเส้นเคลียร์ทุกอย่างให้จบภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน นี้ ก่อนเดินทางไปประชุม APEC

วันนี้ (3 พฤศจิกายน 2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงนโยบายเติมเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet ของรัฐบาลว่า วันนี้ เวลา 15.00 น. จะเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องมาประชุมกลุ่มย่อย เพื่อติดตามการทำงานเกี่ยวกับนโยบายเติมเงินดิจิทัลที่ทำเนียบรัฐบาล

“วันนี้ จะมีการประชุมภายใน และจะแจ้งให้ทราบว่าจะมีการตั้งทีมอนุกรรมการเมื่อไหร่ โดยทุกอย่างหวังว่าน่าจะจบภายในอาทิตย์หน้า พร้อมขอว่าอย่าถามรัฐมนตรีหรือที่ปรึกษาท่านอื่นก็แล้วกัน และขอให้ฟังความคืบหน้าจากนายกฯเอง” 

นายเศรษฐา กล่าวว่า ในการหารือกลุ่มย่อยช่วงบ่ายวันนี้ จะติดตามความคืบหน้าการดำเนินนโยบาย และหากทุกอย่างเรียบร้อย ก็น่าจะประชุมอนุกรรมการนโยบายโครงการเติมเงินดิจิทัล 10000 บาท ผ่าน Digital Wallet ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ 

ทั้งนี้เนื่องจากในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 นี้ นายกฯ มีกำหนดการเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2566 นี้ ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ดังนั้นจึงอยากให้ทุกอย่างเร่งดำเนินการให้จบภายในวันที่ 10 พฤศจิกายน นี้ ให้ได้

 

“เศรษฐา” ถกด่วนเงินดิจิทัล 10000 บ่ายวันนี้ ขีดเส้น 10 พ.ย.เคลียร์จบ

ก่อนหน้านี้ คณะอนุกรรมการฯ ที่มีนายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เตรียมเสนอทางเลือกอื่น ๆ ในการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ นอกเหนือไปจากการแจกแบบถ้วนหน้าตั้งแต่อายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวน 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 560,000 ล้านบาท 

ภายหลังจากได้รับข้อสังเกตจากหลายหน่วยงานในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า การแจกเงินดิจิทัล มีความเป็นไปได้หรือไม่ในการเลือกแจกให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย หรืออาจต้องตัดกลุ่มคนรวย หรือผู้ที่มีรายได้สูงออกจากโครงการไป เพื่อลดกรอบวงเงินของโครงการลงจากเดิม 

โดยทางเลือกที่คณะอนุกรรมการฯ เตรียมเสนอนั้น มี 3 แนวทาง ประกอบด้วย 

  1. ให้เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน ต้องใช้งบประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท 
  2. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 1 แสนบาท ต้องใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท 
  3. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาท ต้องใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท