“เศรษฐา” เยือนสหรัฐฯ ถก 10 ยักษ์เอกชน พร้อมปิดดีลบิ๊กธุรกิจ

07 พ.ย. 2566 | 23:04 น.
อัปเดตล่าสุด :07 พ.ย. 2566 | 23:41 น.

นายกฯ “เศรษฐา” ยกคณะ เยือนสหรัฐฯ ร่วมประชุมเอเปค 11-17 พฤศจิกายน 2566 นี้ จับตาถกเอกชนยักษ์ใหญ่ของโลกกว่า 10 บริษัท เล็งปิดดีล Tesla Google Microsoft ลงทุนไทย

การเดินทางเข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ เอเปค (APEC) ระหว่างวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2566 นี้ ที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และคณะ นอกจากการประชุมตามกำหนดการด้านความร่วมมือระหว่างประเทศแล้ว นายกรัฐมนตรี ยังมีกำหนดการหารือแบบทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ และการนัดหารือร่วมกับเอกชนชั้นนำระดับโลกของสหรัฐอเมริกาหลายราย

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงานเข้ามาหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมการเดินทางไปเข้าร่วมประชุม APEC โดยเฉพาะการเตรียมตัวเรื่องการหารือทวิภาคีกับประเทศต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน 

เช่นเดียวกับการเตรียมความพร้อมในการพบปะหารือกับเอกชนยักษ์ใหญ่หลายราย เพื่อนำเสนอสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ในการดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศไทย

 

ภาพประกอบข่าว นายกฯ “เศรษฐา” ยกคณะ เยือนสหรัฐฯ ร่วมประชุมเอเปค 11-17 พ.ย.นี้

นัดหารือยักษ์ใหญ่กว่า 10 ราย

เบื้องต้นนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดคิวหารือกับนักธุรกิจของสหรัฐอเมริกา มากกว่า 10 ราย โดยเฉพาะการปิดดีลกับบริษัทยักษ์ใหญ่หลายราย หลังจากที่เคยหารือกันไว้ในช่วงที่นายกรัฐมนตรี เดินทางไปประชุมมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ครั้งที่ 78 ที่นครนิวยอร์ก เมื่อช่วงวันที่ 18-24 กันยายน ที่ผ่านมา อาทิ Tesla Google Microsoft Citibank JP Morgan Estee lauder ซึ่งขณะนี้มีข่าวดีแล้วว่ามีบริษัทยักษ์ใหญ่หลายรายตอบรับการหารือกับนายกรัฐมนตรี และคณะ

“นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพบปะกับนักธุรกิจของสหรัฐอเมริกาอย่างมาก โดยมีแผนการพบปะมากกว่า 10 ราย บางส่วนจะมีการต่อยอดจากการไปหารือเมื่อทริปนิวยอร์ก เมื่อช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมา อีกส่วนจะมีเอกชนรายใหม่ด้วย โดยจะเน้นไปที่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมดิจิทัลซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักที่รัฐบาลตั้งใจไว้ว่าจะดึงดูดการลงทุนมาในประเทศ ไทยมากขึ้น” แหล่งข่าวระบุ

พร้อมโปรโมทแลนด์บริดจ์

แหล่งข่าว บอกด้วยว่า นอกจากอุตสาหกรรมเป้าหมายแล้ว ในการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ครั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน หรือ “แลนด์บริดจ์” มูลค่าการลงทุนกว่า 1 ล้านล้านบาท นำไปโปรโมทและอธิบายรายละเอียดของโครงการ ให้กับนักลงทุนทั่วโลก เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุนในอนาคตด้วย

 

ภาพประกอบข่าว นายกฯ “เศรษฐา” ยกคณะ เยือนสหรัฐฯ ร่วมประชุมเอเปค 11-17 พ.ย.นี้ โปรโมทแลนด์บริดจ์

นายกฯลุยภารกิจ 6 ด้าน

นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กำหนดการเดินทางเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ประจำปี 2566 และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของนายกรัฐมนตรี จะปฏิบัติภารกิจใน 6 ด้านหลัก ด้วยกัน ได้แก่ 

  1. การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคและการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 
  2. การพบหารือทวิภาคีกับผู้นำประเทศต่าง ๆ 
  3. กิจกรรมระดับผู้นำภายใต้กรอบความร่วมมือ Indo-Pacific Economic Forum-IPEF 
  4. การพบหารือกับภาคเอกชนสหรัฐอเมริกา ทั้งดูงานบริษัทและการหารือ One-on-one / การพบภาคเอกชนไทยและกิจกรรม Networking Reception กับภาคเอกชนไทยและสหรัฐอเมริกา 
  5. กำหนดการ ณ มหาวิทยาลัย Standford 
  6. การพบหารือกับตัวแทนชุมชนไทย ณ นคร ซานฟรานซิสโก้

 

“เศรษฐา” เยือนสหรัฐฯ ถก 10 ยักษ์เอกชน พร้อมปิดดีลบิ๊กธุรกิจ

 

ทั้งนี้ ไทยมีประเด็นสำคัญที่ต้องการผลักดัน ทั้งด้านการค้าการลงทุน ยกระดับ FTAs ความเชื่อมโยง ผ่านการเสริมสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยงมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรอินเดีย ผ่านโครงการ Landbridge และ ความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน โดยเฉพาะผ่านการท่องเที่ยว ความยั่งยืน สานต่อเป้าหมายกรุงเทพฯ 

โดยยํ้าความมุ่งมั่นของไทยเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอนฯ และการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ และเศรษฐกิจดิจิทัล ส่งเสริมการค้าดิจิทัล/e-commerce และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้ง ความครอบคลุมและความเท่าเทียม การขจัดความยากจน และลดความเหลื่อมลํ้า

นายชัย กล่าวว่า ในโอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีจะพบกับภาคเอกชนรายใหญ่ระดับโลก เป็นโอกาสให้เกิดการค้าการลงทุนในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาที่มีความสำคัญและประเทศไทยมีศักยภาพ เช่น สาขายานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ดิจิทัล และการเงินและการธนาคาร เป็นต้น