ส่องความคืบหน้าล่าสุด"เหมืองโปแตซ" รายชื่อบริษัทที่ได้รับสัมปทาน

08 พ.ย. 2566 | 02:09 น.
อัปเดตล่าสุด :08 พ.ย. 2566 | 02:29 น.

ส่องความคืบหน้าล่าสุด"เหมืองโปแตซ" รายชื่อบริษัทที่ได้รับสัมปทาน หลังนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งเร่งนำแร่ที่เป็นที่ต้องการของประเทศและโลกนั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ พร้อมดันรายใหม่แทนหากรายเดิมทำไม่ได้

"เหมืองโปแตซ" กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีข้อสั่งการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปเร่งรัดเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังจากโครงการมีความล่าช้า

โดยนายกฯระบุชัดเจนว่าหากรายเดิมที่ได้รับสัมปทานไปแล้วไม่สามารถนำเอาโปแตชที่เป็นสินแร่ที่มีประโยชน์และเป็นที่ต้องการของประเทศและโลกนั้นขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ ก็ให้ไปดูว่าจะมีวิธีการที่จะมีผู้เล่นใหม่ที่มีความพร้อมเข้ามาเป็นผู้พัฒนาแหล่งแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้หรือไม่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับเหมืองโปแตซล่าสุดพบว่า 

สถานะล่าสุดเหมืองโปแตซ 

จากข้อมูลมีผู้ยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตชจำนวน 3 รายซึ่งได้มีการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่แวดล้อม (EIA) และผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานนโยบาย และแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียนจำกัด (มหาชน) จ.ชัยภูมิ เนื้อที่ 9,707 ไร่ กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ยื่นคำขอขยายอายุอาชญาบัตรพิเศษสำรวจเหมืองแร่โปแตซ 1 ราย คือ บริษัท หมิงต๋าโปแตชคอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทเคยได้รับอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทชจำนวน 12 คำขอ เนื้อที่ 116,875 ไร่

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่ใต้ดินตามพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.2510 แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอนได้แก่

  • การดำเนินการคำขอประทานบัตรในพื้นที่ 
  • การพิจารณาอนุญาตประทานบัตรของกระทรวงอุตสาหกรรม
  • การอนุญาตให้เปิดการทำเหมือง

อย่างไรก็ตาม มี 2 บริษัทที่มีความพร้อมในการเตรียมเปิดการทำเหมืองได้แก่ บริษัท เหมืองแร่โปแตช อาเซียน จำกัด(มหาชน)และบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ซึ่งได้ปิดประกาศตามพ.ร.บ.แร่ 2510 โดยไม่มีการร้องเรียนคัดค้านและมีการนำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งไม่มีเสียงคัดค้านรวมทั้งได้ลงพื้นที่ชี้แจงประชาชนแล้ว

แต่ทั้งสองบริษัทยังติดปัญหาไม่สามารถระดมทุนเพื่อประกอบกิจการได้ตามแผนที่กำหนดซึ่งทางเอกชนออกความเห็นว่ารัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนว่าเห็นด้วยและต้องการสนับสนุนโครงการดังกล่าวเพื่อให้เกิดการลงทุนได้เร็วส่วนอีกแห่งพบแหล่งน้ำใต้ดินจึงไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ซึ่งจากการสำรวจแร่ถือว่าเป็นพื้นที่มีแร่โปแตชคุณภาพต่ำโดยมีสัดส่วนแร่ 1 ส่วนต่อเกลือ 6 ส่วน

ขณะที่บริษัท เอเชียแปซิฟิค โปแตช คอร์ปอเรชั่น จำกัดอยู่ระหว่างการดำเนินการในขั้นตอนที่ 1 สำรวจพบสัดส่วนแร่ 1 ส่วนต่อเกลือ 2 ส่วน และถือเป็นโครงการที่มีกำลังการผลิตสูงสุดในจำนวนคำขอทั้งหมด โดยกระทรวงอุตสาหกรรมรายงานว่าโครงการเหมืองแร่ดังกล่าวที่จังหวัดอุดรธานีมีการร้องเรียนคัดค้านในขั้นตอนการขอประทานบัตรในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประเด็นสำคัญได้แก่การทรุดตัวของผิวดินจากการทำเหมือง ปัญหาดินเค็มน้ำเค็มฝุ่นเกลือและกองเกลือบนผิวดิน

ย้อนรอยเหมืองโปแตซ

สำหรับประเทศไทยนั้น เริ่มรู้จักโครงการเหมืองแร่โปแตซครั้งแรกภายหลังจาก ครม. เห็นชอบเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2523 ให้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เชิญชวนบริษัทต่างๆ เข้ามายื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตแร่โปแตซในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีบริษัท ไทยอะกริโก โปแตช จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (APPC) ซึ่งมีนายทุนใหญ่อย่างกลุ่มอิตาเลียนไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้ยื่นขอสิทธิดังกล่าวในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี

บริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับสิทธิพิเศษสำรวจแร่โพแทชในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจำนวน 12 แปลง เนื้อที่รวม 1.2 แสนไร่ ซึ่งจากการสำรวจพบแหล่งแร่โพแทชที่มีศักยภาพและมีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ 2 แหล่ง

ต่อมาบริษัทฯ ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองแร่ในพื้นที่จำนวน 4 แปลง เนื้อที่รวม 2.64 หมื่นไร่ ในปี 2565-2590 ระยะเวลา 25 ปี

อย่างไรก็ตามโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานีนั้น ถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เนื่องจากโครงการดังกล่าวไม่ได้มีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างครบถ้วน และยังเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่กับกลุ่มทุน และความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่ด้วยกันเองตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา

งานวิจัยจากสถาบันพระปกเกล้าเรื่องทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการทำเหมืองแร่โปแตซที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อปี 2556 ระบุถึงทัศนคติของประชาชนและชุมชนที่มีต่อโครงการเหมืองแร่โปแตซที่จังหวัดอุดรธานีว่า จะส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างมาก จะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ และจะมีการสร้างอาชีพใหม่ที่ต่อเนื่อง

ส่วนทัศนคติด้านลบจากประชาชนมองว่า โครงการเหมืองแร่โปแตซนี้อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มประชาชนที่สนับสนุนและไม่สนับสนุนโครงการ โดยเฉพาะผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทางด้านน้ำเค็มและน้ำเสียที่เกิดจากการทำเหมืองแร่โปแตซ และจะส่งผลกระทบต่อการทำอาชีพเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอาชีพหลักและเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมไปถึงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนได้ เช่น อาจเสี่ยงให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ และโรคอื่นได้ง่าย

ต่อมากลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีมีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี ขอให้ศาลมีคำสั่งให้รายงานการไต่สวนตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2547 ถึง 4/2547 รวม 4 ฉบับ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งในปี 2561 ศาลได้ตัดสินว่าการจัดทำรายงานการไต่สวนทั้ง 4 ฉบับ เป็นรายงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ส่งผลให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานีต้องเริ่มกระบวนการพิจารณาคำขอประทานบัตรที่ 1/2547 ถึง 4/2547 รวม 4 ฉบับ ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ใหม่อีกครั้ง โดยดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ. 2560 และประกาศที่เกี่ยวข้อง

ในช่วงปลายรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กระทรวงอุตสาหกรรมที่มีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีได้ทำหนังสือถึง ครม. เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2565 เพื่ออธิบายว่าคำขอประทานบัตรทำเหมืองใต้ดินที่ 1/2547 ถึง 4/2547 ของบริษัท เอเซีย แปซิฟิค โปแตซ คอร์ปอเรชั่น จำกัด จำนวน 4 แปลงที่จังหวัดอุดรธานี ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายว่าด้วยแร่ รวมทั้งระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 ครม. มีมติเห็นชอบให้เดินหน้าโครงการเหมืองแร่โพแทช จังหวัดอุดรธานี ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ,กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ,กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวกับโครงการเหมืองแร่โพแทชให้ถูกต้อง เหมาะสม คุ้มค่า มีความโปร่งใส เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และกำกับดูแลผู้ประกอบการให้ดำเนินการตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ (EIA) ให้ครบถ้วน