วันนี้ (21 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า ขณะนี้ กฤษฎีกา ยังไม่ได้รับหนังสือจากกระทรวงการคลัง ถึงการสอบถามเรื่องการตีความข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการออก พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในโครงการ เติมเงินดิจิทัล 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ของรัฐบาล
“วันนี้ได้สอบถามนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการ ชุดใหญ่ และประธานคณะอนุกรรมฯ ถึงการทำหนังสือของกระทรวงการคลังถึงกฤษฎีกา เพื่อปรึกษาและขอให้ตีความเกี่ยวกับข้อกฎหมายว่า ออกมาหรือยัง ซึ่งได้รับการยืนยันว่ายังไม่ถึง แต่ที่ผ่านมากลับมีข่าวออกมาว่าหนังสือส่งมาตั้งแต่วันอังคารก่อน จนถูกคนหาว่าทำงานช้า ซึ่งจริง ๆ แล้วยังไม่มีหนังสือส่งมาที่กฤษฎีกาเลย” นายปกรณ์ ระบุ
ทั้งนี้ยอมรับว่า ตามขั้นตอนที่ถูกต้องนั้น ภายหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการเงินดิจิทัล ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้มีมติให้กระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นฝ่ายเลขานุการในที่ประชุม ทำหนังสือสอบถามมายังกฤษฎีกา เกี่ยวกับข้อกฎหมายและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการกู้เงินว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ ติดขัดข้อกฎหมายตรงไหน ซึ่ง ณ ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอนการรอหนังสืออย่างเป็นทางการ โดยยังไม่ได้ไปถึงขั้นยกร่างกฎหมายออกมาเป็น พ.ร.บ. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท
นายปกรณ์ กล่าวว่า เมื่อกระทรวงการคลัง ส่งหนังสือที่เป็นคำถามต่าง ๆ มาให้กฤษฎีกาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามปกติ โดยไม่มีการตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษ และทุกอย่างเป็นไปอย่างตรงไปตรงมา ถ้าเข้าเงื่อนไขก็สามารถทำได้ ถ้าไม่เข้าเงื่อนไขก็ทำไม่ได้ หากสามารถทำได้ก็ยกร่างกฎหมาย และเสนอให้ที่ประชุมชุดใหญ่พิจารณาอีกครั้ง ซึ่งถือว่าเป็นอีกขั้นตอนหนึ่ง
“อยากให้เข้าใจว่าตอนนี้ยังไม่ได้มีการเสนอมาเป็นร่างกฎหมาย แต่จะส่งเป็นคำถามมาก่อนว่าถ้าครบเงื่อนไขทำได้หรือเปล่าเท่านั้น และตอนนี้ก็ยังรออยู่ และก็ได้รับการยืนยันจากรมช.จุลพันธ์ว่า กำลังดูอยู่ และคงต้องสอบถามไปที่กระทรวงการคลัง” เลขาฯกฤษฎีกา กล่าว
เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า แม้ว่าคำถามจะยังมาไม่ถึงแต่เจ้าหน้าที่กฤษฎีกาก็ได้ติดตามข่าวสารและตรวจสอบกฎหมายสำคัญ ๆ หลายฉบับแล้ว คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเรื่องการจ่ายเงินแผ่นดิน, พ.ร.บ.เงินคงคลัง, พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ, พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ และ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ เป็นต้น โดยจะดูว่าเข้าเงื่อนไขตรงไหนต่อไปด้วย