“ธนินท์" หนุนรัฐบาลเศรษฐา แจกเงินดิจิทัล ค้านคุมราคาสินค้าเกษตร

18 พ.ย. 2566 | 11:14 น.

“เจ้าสัวธนินท์” หนุนรัฐบาลเศรษฐา แจกเงินดิจิทัล 10,000 ชี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ยันไม่เสียวินัยการเงิน หากเร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างรายได้ในระยะถัดไป ขณะค้านคุมราคาสินค้าเกษตร จำกัดกำลังซื้อประชาชน

ในการกล่าวปาฐกถาพิเศษเรื่อง “90 ปีหอการค้าไทย กับการพัฒนาของเศรษฐกิจไทย" โดยนายธนินท์  เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในงานสัมมนาหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศครั้งที่ 41  ณ ไบเทค บางนา (18 พ.ย. 2566) นายธนินท์ ได้ให้มุมมองด้านเศรษฐกิจสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้

หอการค้าไทย 90 ปีที่ผ่านมาในทุกรุ่นของผู้บริหารต่างได้ทุ่มเทการทำงาน ทำให้หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศได้เจริญก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ หอการค้าฯยุค ปัจจุบันภายใต้การนำของนายสนั่น  อังอุบลกุล ถือเป็นนักธุรกิจคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จ และได้ทุ่มเทสู่ยุคการเปลี่ยนแปลง และกำลังสร้างคนรุ่นใหม่ในทุกจังหวัดสู่ภาคธุรกิจ

สำหรับในยุค 4.0 ไม่ใช่คนรุ่นเก่าไม่มีความหมาย คนรุ่นเก่ายังมีความหมายแต่ต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ในยุค 4.0 เรื่องข้อมูลเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก ๆ แต่ข้อมูลอย่างเดียวไม่พอยังต้องพึ่ง AI เพราะทุกอย่างในเวลานี้ต้องเร่ง

ธนินท์  เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์

สำหรับเรื่องแรกที่จะมาพูดคือ ต้องขอชมเชยรัฐบาลที่ผ่านมาในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่การรักษาวินัยการเงิน-การคลังสามารถทำได้ดี ทำให้ไทยยังอยู่ในท็อปของโลกเรื่องการรักษาวินัยทางการเงิน หนี้สาธารณะของไทยยังแค่ 61% ต่อจีดีพี ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกตัวเลขหนี้สาธารณะกว่า 100% ต่อจีดีพี

ในส่วนของรัฐบาลชุดใหม่ (รัฐบาลเศรษฐา) ตนมีความเชื่อมั่นสูง เข้ามาในเวลาที่ถูกต้อง โดยนายกฯเศรษฐาเป็นนักธุรกิจจากภาคอสังหาริมทรัพย์อันดับต้น ๆ หรือเบอร์ 1 ของประเทศ ออกบอนด์ดอกเบี้ย 4% กว่า แสดงว่าท่านไม่ใช่นักธุรกิจอย่างเดียว แต่ยังเป็นนักบริหารการเงินที่ยอดเยี่ยม และออกมาตรการทุกอย่างถูกต้องท่ามกลางเวลานี้ที่โลกไม่ปกติและมีวิกฤตเศรษฐกิจ

“รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เจอโควิดมา 3 ปีทำได้ขนาดนี้ถือว่ายอดเยี่ยม วันนี้โลกเปิดรัฐบาลเศรษฐามีการพักหนี้เกษตรกร ซึ่งก็เห็นด้วยไม่ใช่จะทำให้เสียวินัยการเงินเพราะประเทศไทยต้องปกป้องสินค้าเกษตรของประเทศ รวมถึงเกษตรกรของไทย โดยราคาสินค้าเกษตรต้องให้ราคาสูงถือเป็นน้ำมันบนดิน ซึ่งหากธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องสามารถนำไปสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกสองเท่าสามเท่าก็จะสามารถนำเงินตราเข้าประเทศได้อีกมาก ซึ่งสินค้าเกษตรเราได้ 100% เพราะงอกจากแผ่นดิน และสามารถปลูกได้ใหม่ ขณะที่น้ำมันใช้แล้วหมดไป”

“ธนินท์\" หนุนรัฐบาลเศรษฐา แจกเงินดิจิทัล ค้านคุมราคาสินค้าเกษตร

ดังนั้นจึงอยากให้ทุกท่านช่วยกัน ไม่ใช่ว่าพอราคาสินค้าเกษตรสูงก็ไปจำกัดราคา เรื่องนี้ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลจะไปจำกัดราคาสินค้าเกษตร เพราะถ้าเกษตรกรมีต้นทุนแพงก็ต้องไปจัดการและเพิ่มผลผลิต ถ้าไปจำกัดราคา จะทำให้เกษตรกรยากจน ทำให้เขาเสียหาย และเสียโอกาส ประเทศที่เจริญแล้วไม่มีประเทศไหนที่ไปกดราคาสินค้าเกษตร

วันนี้คนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นเกษตรกร และมีหนี้หนี้นอกระบบ ดังนั้นถึงเวลาที่ทุกพรรคการเมือง นักธุรกิจ นักวิชาการ ต้องมองประโยชน์ชาติต้องมาก่อน ประชาชนต้องมาก่อน ถ้าเกษตรกรหรือประชาชนไม่มีกำลังซื้อจะขายสินค้าให้ใคร ขณะที่หลายบริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับภาคเกษตร ส่วนภาคอุตสาหกรรมหากผลิตแล้วไม่มีกำลังซื้อจะขายสินค้าให้ใคร

นายธนินท์ยังสนับสนุนรัฐบาลเศรษฐาที่กำลังจะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000  บาท ในเรื่องนี้ต้องช่วยกันพูดให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า ไม่ทำให้เสียวินัยการคลัง เพราะรัฐบาลจะมีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและหารายได้ในระยะต่อไป ทั้งนี้หากนักการเมือง นักธุรกิจ และบริษัทเอกชนยึดประโยชน์ของตัวเองเป็นที่ 3 ประเทศไทยจะเจริญรุ่งเรืองแน่

“ธนินท์\" หนุนรัฐบาลเศรษฐา แจกเงินดิจิทัล ค้านคุมราคาสินค้าเกษตร

สำหรับข้อเสนอสำหรับธุรกิจในยุคต่อไป ที่ผ่านมาโลกเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ แต่อาเซียนที่มีไทยเป็น 1 ใน 10 ประเทศสมาชิกเศรษฐกิจยังขยายตัว โดยเฉพาะประเทศไทยไม่เหมือนยุคต้มยำกุ้ง เวลานี้ชื่อเสียงวินัยทางการเงินของไทยยังอยู่ในอันดับท็อปของโลก ขณะที่วิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นในเวลานี้ตนมองว่าเต็มไปด้วยโอกาสของประเทศไทย เพราะไทยเป็นประเทศที่ปลอดภัย ขณะประเทศเพื่อนบ้านก็มีความอุดมสมบูรณ์และมีประชากรมาก เช่น อินโดนีเซียมีมากกว่า 330 ล้านคน ฟิลิปปินส์ 110 ล้านคน และเวียดนามกำลังจะไปถึง 100 ล้านคน ขณะที่ประเทศไทยไม่ถึง 70 ล้านคน และกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัยเร็วกว่าประเทศอื่น จากประชากรเพิ่มขึ้นไม่มากในช่วงที่ผ่านมา

ดังนั้นในยุคที่ภาคธุรกิจต้องเปลี่ยนผ่านการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมไฮเทคที่มีความทันสมัย และทำให้มีต้นทุนที่ถูกลง มีความจำเป็นที่จะต้องดึงต่างชาติที่เก่ง ๆ ของโลกมาอยู่ในเมืองไทยและช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างน้อย 5 ล้านคน โดยออกกฎหมายและอำนวยความสะดวกให้เขาเข้ามาอยู่ในเมืองไทย ดังเช่น ดูไบของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่ดึงคนเก่ง ๆ  ของโลกเข้าไปอยู่และช่วยสร้างเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว รวมถึงประเทศสิงคโปร์ที่มีประชากรเพียง 2 ล้านคน และดึงคนเก่ง ๆ ของโลกอีก 2 ล้านคนไปช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ