รฟท.เดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือระนอง รับแลนด์บริดจ์

23 พ.ย. 2566 | 07:49 น.

รฟท.เชิญชวนผู้สนใจร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน(ครั้งที่2) โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง รองรับ โครงการ Land Bridge ชุมพร-ระนอง ; วันที่ 28 พ.ย.66

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กำหนดจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ครั้งที่2) งานสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง เพื่อนำเสนอผลการศึกษาของโครงการ ผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม 

พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ สำหรับนำไปประกอบการศึกษาของโครงการให้มีความครบถ้วนและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น  ซึ่งนำมาสู่การยอมรับร่วมกัน ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 เวลา 08.30-12.00 น. ณ ห้องราชาวดี เฮอริเทจ แกรนด์ คอนเวนชั่น อ.เมืองระนอง จ.ระนอง
 

ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์โปรแกรม Zoom Cloud Meeting(Meeting ID:92792558024 และ Passcode:634861)  โดยตอบรับเข้าร่วมประชุมฯหรือแจ้งลงทะเบียนล่วงหน้า ภายในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566  

รฟท.เดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือระนอง รับแลนด์บริดจ์

สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟช่วงชุมพร-ท่าเรือน้ำลึกระนอง การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. ได้ว่าจ้างให้กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาดำเนินการสำรวจ ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มดำเนินงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 โครงการมีจุดเริ่มต้นอยู่ที่บริเวณแหลมริ่ว ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน ผ่าน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร และมีจุดสิ้นสุดที่บริเวณแหลมอ่าวอ่าง ต.ราชกรูด อ.เมืองระนอง จ.ระนอง 

 

สำหรับ รายละเอียดโครงการเบื้องต้น เป็นระบบรางให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและขนส่ง เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน(Land Bridge) และแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง(MR-MAP) เส้นทางชุมพร-ระนอง(MR8) รวมระยะทาง 87.50 กิโลเมตร

รฟท.เดินหน้าก่อสร้างทางรถไฟ ช่วงชุมพร-ท่าเรือระนอง รับแลนด์บริดจ์

ทางรถไฟขนาดรางกว้าง 1 เมตร จำนวน 2 ทาง มี 5 สถานี  ประกอบด้วย สถานีท่าเรือชุมพร สถานีวังตะกอ สถานีพะโต๊ะ สถานีราชกรูด และสถานีท่าเรือระนอง มีการเจาะอุโมงค์ 10 แห่ง ความยาวรวมประมาณ 15 กิโลเมตร มีระยะเวลาในการก่อสร้าง 5.5 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการปี พ.ศ. 2573

ประโยชน์ที่ได้รับจากโครงการ คือ เพิ่มขีดความสามารถด้านการขนส่งสินค้า ผู้โดยสาร เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวของประเทศ เพื่อพัฒนาระบบดลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพตอบสนองต่การลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงฐานการผลิตในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก(EEC) กับประตูการค้าภาคใต้ เพื่อส่งต่อสินค้าไปยังกลุ่มประเทศ BIMSTEC หรือตะวันออกกลาง ยุโรป ได้อย่างมีประสิทธิภาพ