นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เสถียรภาพเศรษฐกิจมหภาคของไทย อยู่ในเกณฑ์ที่แข็งแกร่ง โดยเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 2.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รองรับการนำเข้าได้ถึง 7 เดือน ส่วนดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ด้านอัตราเงินเฟ้อต่ำ 1.6% อยู่ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ และอัตราการว่างงานต่ำ อยู่ที่ระดับ 1%
ขณะที่ในด้านฐานะการคลังก็มีมั่นคง โดยปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 2.66 ล้านล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 1.1 แสนล้านบาท หรือ 4.5% ถือเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ส่งผลเงินคงคลัง ณ สิ้นดือนก.ย.2566 อยู่ที่ 5.39 แสนล้านบาท
ส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย. 2566 อยู่ที่ 62.14% ต่อจีดีพี อยู่ในกรอบ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ขณะที่หลายประเทศหนี้สาธารณะอยู่ในระดับเกิน 100%
นอกจากนี้ เสถียรภาพการเงินก็ไร้กังวล โดยเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 19.9% สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 8.5% หนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับต่ำที่ 2.7%
ทั้งนี้ ขีดความสามารถในการแข่งขันดีขึ้นแบบหน้ากระดาน โดยอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่ที่ 30 ของโลก ปรับตัวดีขึ้น 3 อันดับจากช่วงCOVID-19 โดยเพิ่มขึ้นทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ศักยภาพทางเศรษฐกิจดีขึ้น 18 อันดับ ประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ ประสิทธิภาพของภาครัฐดีขึ้น 7 อันดับ และโครงสร้างพื้นฐานดีขึ้น 1 อันดับ เป็นข้อเท็จจริงที่ต่างชาติมอง