น.ส.ชณกช ชสิธภนญ์ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์การพัฒนาเมือง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยในงานการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เมืองศูนย์กลางที่น่าอยู่และชาญฉลาด (Livable & Smart City) บนฐานงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย ว่า สศช.กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำดัชนีชี้วัดการเป็นเมืองน่าอยู่และยั่งยืนเป็นครั้งแรกของประเทศไทย
ทั้งนี้ในการจัดทำดัชนีดังกล่าวขึ้น เพื่อส่งเสริมการเป็นเมืองอัจฉริยะขึ้นในอนาคต โดย สศช. ต้องการให้ความเป็นเมืองสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทุกรูปแบบ สร้างคุณภาพชีวิตที่กับประชากร โดยการสร้างเมืองน่าอยู่ยั่งยืนจะวัดจากความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี ความยืดหยุ่น และความทั่วถึงไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเป็นหลัก
“ปัจจุบันมีการทำเมืองอัจฉริยะขึ้น ดูแลโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa แต่เมืองน่าอยู่และยั่งยืน ซึ่งเป็นจุดสำคัญของการพัฒนาเมืองยังไม่มีตัวชี้วัดขอบเขตอะไรออกมา สศช. จึงอยู่ระหว่างการจัดทำเรื่องนี้ขึ้น โดยค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันในปี 2566 ได้มีการคัดเลือก และทบทวนดัชนีตัวชี้วัดเมืองที่มีอยู่ทั้งหมด”
ล่าสุด สศช. ได้นำกรอบการติดตามการพัฒนาเมืองของโลก (The Global Urban Monitoring Framework : UMF) ของ UN Habitat มาปรับใช้การจัดทำดัชนีเมืองน่าอยู่ยั่งยืน ถือเป็นกรอบแนวคิดที่มีการปรับประสานดัชนีชี้วัดเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบันและเครื่องมือต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับกรอบสากล สำหรับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ระดับเมือง และวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมืองด้วย
น.ส.ชณกช กล่าวว่า หากนำตัวชี้วัด UMF มาปรับใช้กับเมืองแล้ว จะทำให้เมืองนั้นสามารถเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองยั่งยืนระดับโลก (SDG Cities) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกได้ โดยจะนำมาจัดเก็บข้อมูลของเมืองในระดับเทศบาลประมาณ 30 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้เมืองต่าง ๆ ของประเทศไทยมีการพัฒนา และเห็นสถานภาพที่ชัดเจนของความเป็นเมืองน่าอยู่ และยังแสดงให้เห็นถึงปัญหาของเมืองให้รัฐบาลรับทราบและจัดงบประมาณมาแก้ไขต่อไป
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า การขับเคลื่อนเมืองน่าอยู่ยั่งยืนในปัจจุบันประเทศไทยมีความพร้อม และจะต้องใช้ระบบการจัดการข้อมูลมากขึ้น โดยมีความจำเป็นที่ต้องให้ฝ่ายนโยบายรัฐช่วยส่งเสริม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างถูกต้อง และประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้พัฒนาเมืองของตัวเองด้วย
นายขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ เจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารโลก สำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า การพัฒนาเมืองมีความเชื่อมโยงกับ 3 ส่วนสำคัญของไทย ทั้ง ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ และความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องของความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันทุกประเทศกำลังจะมุ่งสู่สังคมสีเขียว แต่เมืองกลับปล่อยมลพิษเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องเร่งแก้ปัญหา เพราะเป้นเรื่องที่ผูกกับปัญหาประเทศและปัญหาของโลกด้วย