สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดรายงาน Social Budgeting : เครื่องมือในการวิเคราะห์การจัดสวัสดิการทางสังคม พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับรายจ่ายงบประมาณด้านสังคมของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการสร้างหลักประกันทางสังคมให้กับประชาชน โดยการใช้จ่ายด้านสังคมมีมูลค่า 1.16 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 7.15% ต่อ GDP ในปี 2564 ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 4.97% ในปี 2555
โดยเมื่อพิจารณาลักษณะของโครงการด้านสังคม พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการให้เงินช่วยเหลือและเงินทดแทนรายได้ที่ส่งตรงไปให้แก่ผู้รับประโยชน์ โดยในปี 2564 รายจ่ายดังกล่าวมีสัดส่วนสูงถึง 57% ของรายจ่ายของงบประมาณด้านสังคมทั้งหมด รองลงมาเป็นรายจ่ายสำหรับสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ตัวเงินอยู่ที่ 36.9%
ทั้งนี้หากพิจารณาตามสิทธิประโยชน์ พบว่า รายจ่ายของงบประมาณด้านสังคมที่รัฐให้การช่วยเหลือมากที่สุด คือ การเกษียณอายุ/เสียชีวิต โดยมีสัดส่วนรายจ่ายอยู่ที่ 41% รองลงมาเป็นรายจ่ายด้านสุขภาพและด้านความยากจนที่มีสัดส่วนประมาณ 33.7% และ 8.4% ตามลำดับ
สำหรับสถานการณ์งบประมาณด้านสังคมของประเทศไทยในภาพรวม ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มการใช้จ่ายในการจัดสวัสดิการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ หากพิจารณางบประมาณด้านสังคมในรายละเอียดทั้งประเภทรายรับ ลักษณะรายจ่าย รวมทั้งสิทธิประโยชน์ พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้
1.ภาครัฐต้องใช้จ่ายในโครงการด้านสังคมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดเก็บรายได้ยังทำได้ไม่เต็มศักยภาพ จะส่งผลให้ช่องว่างทางการคลังมีแนวโน้มแคบลง โดยระหว่างปี 2555 - 2562 ภาครัฐใช้จ่ายเงินสำหรับการจัดสวัสดิการด้านสังคมเพิ่มขึ้นจาก 5.7 แสนล้านบาท ในปี 2555 เป็น 9.2 แสนล้านบาท ในปี 2562 หรือมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ย 7.1% ต่อปี ตามแนวโน้มการจัดสรรสวัสดิการด้านสังคมของภาครัฐที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและสิทธิประโยชน์
แต่เมื่อพิจารณาการจัดเก็บรายได้ของรัฐ พบว่า ในช่วงเวลาเดียวกันรายได้สุทธิหลังหักการจัดสรรมีการขยายตัวเฉลี่ยเพียง 4% ต่อปีเท่านั้น ทั้งที่เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากรัฐยังจัดเก็บรายได้ไม่เต็มศักยภาพ โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ยังมีสัดส่วนผู้ยื่นภาษีและจ่ายภาษีคิดเป็นสัดส่วนไม่มาก
จากผลดังกล่าวทำให้สัดส่วนของเงินที่รัฐต้องจ่ายเพื่อใช้สำหรับการจัดสวัสดิการด้านสังคมเทียบกับรายได้สุทธิหลังหักการจัดสรรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 29% ในปี 2555 เป็น 35.7% ในปี 2562 ซึ่งหากไม่มีการเพิ่มรายได้หรืออัตราเงินสมทบจากแหล่งอื่น อาจทำให้รัฐต้องกู้ยืมเพื่อนำมาใช้จ่ายและเกิดหนี้สาธารณะมากขึ้นในอนาคต
2. รายจ่ายของงบประมาณด้านสังคมเกี่ยวกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยังมีสัดส่วนน้อย เมื่อพิจารณารายจ่ายด้านสังคมตามลักษณะสิทธิประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ จะพบว่า ในปี 2564 จาก 3 ใน 4 ของรายจ่ายด้านสังคมทั้งหมดถูกใช้ไปเพื่อการดูแลด้านการเกษียณอายุ/เสียชีวิต 41% และด้านสุขภาพของประชาชน 33.7% เป็นหลัก ขณะที่รายจ่ายด้านการศึกษาและด้านการเลี้ยงดูเด็กและครอบครัว ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ยังมีสัดส่วนน้อย หรือคิดเป็นเพียง 8% และ 6.5% ตามลำดับ
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของต่างประเทศจำนวนมากระบุอย่างชัดเจนว่า ทุนมนุษย์เป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งไทยอาจต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองทางสังคมในด้านการเข้าถึงบริการทางสังคมที่มีคุณภาพ เช่น การให้คูปองการฝึกอบรมกับกลุ่มเด็กหรือวัยแรงงาน เป็นต้น
3. รายจ่ายของโครงการด้านสังคมที่เป็นตัวเงินนอกเหนือจากด้านการเกษียณอายุและเสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยปี 2555 มีมูลค่า 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 6.35 หมื่นล้านบาท ในปี 2561 จากการริเริ่มโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และปรับตัวสูงขึ้นเป็น 1.33 แสนล้านบาท ในปี 2564 ชี้ให้เห็นว่าการให้ความช่วยเหลือทางสังคมในลักษณะนี้มีบทบาทมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม โครงการในลักษณะดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความช่วยเหลือมากกว่าการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มเป้าหมาย อาทิ โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่เน้นช่วยเหลือค่าอุปโภคบริโภคให้แก่ครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ขณะที่โครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายน้อยมีผู้เข้าร่วมเพียง 2.8 แสนคน จากจำนวนผู้ถือบัตรสวัสดิการทั้งหมด 13.4 ล้านคน ซึ่งอาจไม่สามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของครัวเรือนรายได้น้อยได้อย่างยั่งยืน
4. แนวโน้มของช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายของโครงการทางสังคมที่มีการสมทบ (contributory) ที่แคบลง ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมในอนาคต เมื่อพิจารณางบประมาณทางสังคมของโครงการที่มีการจ่ายสมทบจากภาคส่วนต่าง ๆ พบว่า รายรับของโครงการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่ารายจ่าย ส่งผลให้ช่องว่างระหว่างรายรับและรายจ่ายลดลงจาก 56.3% เมื่อเทียบกับรายรับทั้งหมดในปี 2555 เหลือเพียง 35.3% ในปี 2564
ทั้งนี้ความแตกต่างระหว่างรายรับและรายจ่ายที่ลดลงถือเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยเฉพาะกับโครงการที่ต้องมีการจ่ายบำเหน็จบำนาญให้แก่สมาชิก อาทิ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนประกันสังคม ขณะที่รายรับจากเงินสมทบของสมาชิกใหม่มีแนวโน้มจะน้อยลง และจำนวนผู้รับประโยชน์ที่เกษียณอายุจะเพิ่มมากขึ้น
อีกทั้ง สิทธิประโยชน์ที่จะให้แก่สมาชิกยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น แต่อัตราเงินสมทบยังไม่มีทิศทางที่จะปรับเพิ่มตาม และอาจต้องปรับลดตามเหตุการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ นอกจากนี้ การลงทุนของกองทุนอาจไม่ได้รับผลตอบแทนตามคาด ซึ่งสาเหตุเหล่านี้อาจทำให้ในอนาคตเงินทุนสะสมในกองทุนมีความเสี่ยงที่จะไม่เพียงพอ จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
สศช. ระบุว่า จากสถานการณ์ทั้งหมด สะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดและอุปสรรคของระบบความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยที่การจัดสรรงบประมาณด้านสังคมในปัจจุบันยังให้ความสำคัญกับเกษียณอายุและเสียชีวิตเป็นหลัก ขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐที่ยังไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายด้านสังคม อีกทั้งบทบาทของประชาชนผ่านการจ่ายภาษีต่อระบบสวัสดิการทางสังคมยังมีจำกัด ส่งผลให้งบประมาณภาครัฐขาดดุลมาตั้งแต่ปี 2540
นอกจากนี้ โครงการที่ให้ผลประโยชน์ที่เป็นตัวเงินยังเป็นภาระทางการคลังที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐมีการก่อหนี้เพื่อมาใช้จ่ายในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ทำให้หนี้สาธารณะต่อ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 41.1% ปรับขึ้นมาเป็น 61.8% ในเดือนสิงหาคม 2566 ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้สถานะทางการคลังตึงตัวมากขึ้น จะเป็นข้อจำกัดในการจัดสรรงบประมาณด้านสังคมในอนาคต
ดังนั้น เพื่อรักษาระดับของช่องว่างทางการคลังไม่ให้ตึงตัวมากเกินไป ซึ่งจะส่งผลต่อความยั่งยืนของสวัสดิการทางสังคม และสร้างสมดุลระหว่างการจัดสวัสดิการแต่ละด้าน ภาครัฐจึงควรตระหนักถึงประเด็นดังต่อไปนี้
1.เน้นการดำเนินนโยบายในรูปแบบร่วมจ่ายมากขึ้น โดยการออกแบบนโยบายจะต้องคำนึงถึงภาระทางการคลัง และความสามารถในการยกระดับสังคมให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว ซึ่งจะเป็นผลดีต่อช่องว่างและความยั่งยืนทางการคลัง
2.ปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ได้มากขึ้น ซึ่งจะต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างการตระหนักรู้ถึงความสำคัญของภาษีต่อการจัดสวัสดิการและการพัฒนาประเทศ
3.ส่งเสริมและผลักดันให้ประชาชนสร้างหลักประกันเพื่อชีวิตในยามเกษียณให้แก่ตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยจะต้องปลูกฝังทัศนคติทางการเงินที่ดีและการวางแผนสำหรับอนาคตตลอดทุกช่วงวัย ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถลดรายจ่ายในการดูแลกลุ่มเปราะบางลงได้
4.ปรับรูปแบบการให้สวัสดิการ โดยเน้นการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้มากกว่าการให้ความช่วยเหลือทางการเงิน
5.จัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ของสวัสดิการต่าง ๆ ที่รวบรวมข้อมูลทั้งงบประมาณที่ใช้และผู้ได้รับประโยชน์ ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐสามารถออกแบบมาตรการได้อย่างตรงจุดและทันท่วงทีลดการตกหล่นของกลุ่มเป้าหมายและการรั่วไหลไปสู่ผู้ที่ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย รวมถึงลดความซ้ำซ้อนของสิทธิ