รายได้ต่อหัวคนไทย ปี 2566 จำต้องปรับลดลงจากประมาณการเดิมอย่างแน่นอนแล้ว ภายหลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศปรับลดประมาณการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยลง โดยคาดว่าตลอดทั้งปี ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) ของไทย จะขยายตัวได้เพียง 2.5-3% ลดลงจากจากประมาณการเดิม 2.7-3.7%
มีต้นเหตุมาจากตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ของปี 2566 ออกมาต่ำกว่าที่คาด นั่นเพราะขยายตัวได้แค่ 1.8% ชะลอลงจาก 2.6% ในไตรมาสแรก ปี 2566 เป็นผลมาจากการส่งออกที่ปรับลดลงต่อเนื่องถึง 3 ไตรมาส ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 2565 เป็นต้นมา โดยปริมาณการส่งออกไตรมาสนี้ ติดลบไปถึง 5.7%
มิหนำซ้ำยังส่งผลไปถึงส่งผลถึงสาขาอุตสาหกรรมต้องโดนหางเลขติดลบตามมาที่ 3.3% เช่นเดียวกับการอุปโภคภาครัฐบาล ที่ติดลบ 4.3% เพราะสิ้นสุดมาตรการรัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาดลดลงถึง 25% นั่นจึงทำให้ช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ต่ำเพียงแค่ 2.2% เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ สศช. ต้องปรับลดประมาณการเครื่องชี้วัดทางเศรษฐกิจตัวอื่น ๆ ลงทั้งแผง มีผลถึงการประมาณการ รายได้ต่อหัว หรือ GDP Per Capita ของคนไทย ในปี 2566 ลงไปด้วยเช่นกัน โดยมีรายละเอียดดังนี้
ทั้งนี้หากเทียบประมาณการรายได้ต่อหัว หรือ GDP Per Capita ของคนไทย ในปี 2566 เป็นดอลลาร์สหรัฐ พบว่า
สำหรับรายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี 2566 ในด้านต่าง ๆ สศช. รายงานไว้ดังนี้
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค
สำหรับการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ในปี 2566 ประกอบไปด้วย
1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 5% ต่อเนื่องจาก 6.3% ในปี 2565 และเป็นการปรับเพิ่มจาก การขยายตัว 3.7% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของการจ้างงาน และฐานรายได้โดยเฉพาะนอกภาคเกษตรในสาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ประกอบกับความเชื่อมั่น ผู้บริโภคที่อยู่ในเกณฑ์สูง
2. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 3.1% เทียบกับ การขยายตัว 0.2% ในปี 2565 และเป็นการปรับลดลงจากการลดลง 2.6% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา สอดคล้องกับการปรับลดสมมติฐานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำภายใต้งบประมาณ รายจ่ายประจำปี 2567
การลงทุนรวม
คาดว่าจะขยายตัว 1.6% ต่อเนื่องจาก 2.3% ในปี 2565 แต่เป็นการปรับลดลงจาก 2.1% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา แยกเป็น
1. การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 1.5% ชะลอลงจาก 5.1% ในปี 2565 และปรับลดลงจาก 1.9% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการลดลงของการส่งออกและการนำเข้าสินค้าตามแนวโน้มการชะลอตัวของปริมาณการค้าโลก และอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังอยู่ในระดับต่ำ
2. การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2% กลับมาขยายตัวจากการลดลง 4.9% ในปี 2565 แต่เป็นการปรับลดลงจากการขยายตัว 2.7% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามการปรับลดประมาณการอัตราการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนภายใต้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการเบิกจ่ายงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ
มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์
คาดว่าจะลดลง 1.8% เทียบกับการขยายตัว 5.4% ในปี 2565 และการลดลง 1.6% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยคาดว่าปริมาณการส่งออกในปี 2566 จะลดลง 1.8% เทียบกับการลดลง 1.1% ในการประมาณการครั้งก่อน ขณะที่คาดว่าราคาส่งออกจะอยู่ที่ (-0.5%) - 0.5% ปรับจาก (-1%) - 0.0% ในการประมาณการครั้งก่อน
เมื่อรวมกับการปรับลดสมมติฐานรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ คาดว่าปริมาณการส่งออกสินค้า และบริการในปี 2566 จะขยายตัว 5% เทียบกับ 6.9% ในการประมาณการครั้งก่อน และชะลอลงจาก 6.8% ในปี 2565