วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินกลุ่มข้าราชการทั่วประเทศ กว่า 3 ล้านคน โดยคาดว่า แนวทางการช่วยเหลือจะเริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ในรายละเอียดของการแก้ปัญหาหนี้ครั้งนี้ คณะกรรมการฯ ตั้งเป้าหมายการช่วยเหลือข้าราชการทั้งระบบ เช่น ข้าราชการตำรวจ ครู สาธารณสุข ให้มีเงินเดือนเมื่อถูกตัดยอดหนี้แล้วต้องไม่ต่ำกว่า 30% เพราะที่ผ่านมาพบปัญหาว่า ข้าราชการส่วนใหญ่ที่มีหนี้สินจากการกู้เงินสินเชื่อสวัสดิการ เมื่อได้รับเงินเดือนแล้วจะถูกหักยอดหนี้จนเหลือเงินใช้ในแต่ละเดือนไม่ถึง 30% ของเงินเดือนที่ได้รับทั้งหมด
สำหรับการช่วยเหลือข้าราชการทั้งหมดนั้น แนวทางหลังจากนี้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับข้าราชการที่มีภาระหนี้ลง เพื่อให้แต่ละเดือนข้าราชการจะได้มีเงินเหลือมากขึ้นเมื่อถูกหักหนี้ไปแล้ว คาดว่าเมื่อเริ่มดำเนินการแล้วจะทำให้ข้าราชการ 1 ใน 3 สามารถปลดหนี้ได้ พร้อมทั้งขยายงวดชำระต้นเงินกู้ของข้าราชการให้มากขึ้น โดยให้สามารถผ่อนชำระได้จนถึงอายุ 75 ปี
พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ กล่าวว่า หากข้าราชการรายใดที่ได้รับการช่วยเหลือแล้ว ยังประสบปัญหามีเงินในบัญชีเหลือไม่ถึง 30% ของเงินเดือน รัฐบาลจะหาทางช่วยเหลือผ่านการหาแหล่งเงินกู้พิเศษกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐให้ และหากรายใดที่เจอผลกระทบหนักกว่านั้น รัฐบาลจะพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเป็นการเฉพาะแบบราย ๆ ไป โดยในแนวทางการช่วยเหลือทั้งหมด จะเริ่มต้นดำเนินการได้ภายในเดือนมกราคม 2567 นี้
ขณะเดียวกันรัฐบาลจะประสานงานไปยังกรมบัญชีกลาง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งเป็นต้นทางของการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลด้วย
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัจจุบัน ข้าราชการทั่วประเทศที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ ซึ่งอยู่ในระบบเงินกู้สวัสดิการ มียอดรวมกว่า 3 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ และเป็นข้าราชการครู กว่า 8 แสนคน รองลงมาคือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.3 แสนคน และกระทรวงสาธารณสุข อีก 2 แสนคน และที่เหลือจะลดหลั่นลงไป โดยรัฐบาลมีหลักการจะเข้าไปช่วยแก้ไขปัญหาทั้งหมด
ส่วนการแก้ไขปัญหาหนี้บัตรเครดิตนั้น จะมีอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งเบี้ยปรับในกรณีที่ผิดนัดชำระ ซึ่งกำกับดูแลโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยในการคิดเบี้ยปรับนั้น จะคิดเบี้ยปรับในกรณีที่ผิดนัดชำระ ไม่เกิน 3% โดยคณะกรรมการกำลังหารือถึงแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วย ส่วนในภาพรวมของการแก้ปัญหานี้นั้น ในวันที่ 12 ธันวาคม 2566 นี้ นายกรัฐมนตรีจะมาประกาศแนวทางทั้งหมดอีกครั้ง