ปิดทองหลังพระฯ ดัน "กำปังโมเดล" ต้นแบบแก้จนเพิ่มรายได้เกษตรกร

01 ธ.ค. 2566 | 09:50 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ธ.ค. 2566 | 09:59 น.

สถาบันปิดทองหลังพระฯ ต่อยอด “กำปังโมเดล” จ.นครราชสีมา เป็นพื้นที่ต้นแบบบริหารจัดการน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ แก้ความยากจน เล็งขยายตลาดขึ้นห้างสรรพสินค้า สร้างรายได้ให้เกษตรกรมากขึ้น

นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เปิดเผยว่า ปิดทองหลังพระฯ กำลังผลักดันกำปังโมเดล ซึ่งอยู่ที่ต.กำปัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา เป็นต้นแบบการบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการน้ำและเกษตรทฤษฎีใหม่ ภายหลังจากได้รับการพัฒนาแหล่งน้ำ และปลูกพืชทางเลือก ซึ่งสามารถสร้างรายได้ที่ดีกว่าให้กับเกษตรกรแทนการทำนาปรังเหมือนในอดีต

นายกฤษฎา กล่าวว่า การผลักดันกำปังโมเดล ป็นพื้นที่ต้นแบบนั้น ต้องสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรให้ได้มากที่สุด โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงตลาดให้กับเกษตรกร และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ตลาดต้องการ เพื่อขยายตลาดไปยังห้างสรรพสินค้าและสร้างเสริมรายได้ให้มากขึ้นต่อไปในอนาคต

ทั้งนี้ที่ผ่านมา ในพื้นที่บ้านจานเหนือ ม.13 ต.กำปัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ได้ร่วมกันทำกิจกรรมต่อยอดจากโครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพระบบกระจายน้ำคลองลุง ที่ได้รับงบประมาณในการจัดทำระบบชักน้ำขึ้นที่สูง เพื่อดึงน้ำจากแหล่งน้ำที่อยู่ต่ำกว่าพื้นที่ของเกษตรกร จากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ปิดทองหลังพระฯ ดัน \"กำปังโมเดล\" ต้นแบบแก้จนเพิ่มรายได้เกษตรกร

 

สำหรับผลจากกิจกรรมต่อยอดอาชีพของเกษตรกรหลังจากมีน้ำใช้ พบว่า แปลงทดลองทำนาดำ มีกำไรมากกว่าการทำนาหว่านถึง 4,244 บาท และการทำนาหว่านแบบเดิมที่ใช้น้ำฝนเพียงอย่างเดียว กับนาหว่านที่มีระบบกระจายน้ำจากสถาบันปิดทองหลังพระฯ พบว่า มีกำไรมากกว่าการใช้น้ำฝน 1,102 บาท 

รวมถึงการทดลองให้หญ้าเนเปียร์เป็นอาหารแก่โค กระบือ และแพะ พบว่าสัตว์มีอัตราการเจริญเติบโตมากกว่าการเลี้ยงแบบปล่อยไล่ทุ่ง รวมถึงการขุดร่องรอบนาข้าว เพื่อเลี้ยงปลาตะเพียน ปลานิล ปลาหมอ เป็นรายได้เสริมซึ่งเป็นโครงการของประมงจังหวัด ซึ่งหากเกษตรกรนำไปจำหน่าย จะมีรายได้กว่า 14,200 บาท และแปลงทดลองหลุมพอเพียง ตามเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่มีการปลูกพืชสวนครัว โดยนำไปบริโภคและจำหน่าย รวมเป็นเงิน 1,100 บาท

 

ปิดทองหลังพระฯ ดัน \"กำปังโมเดล\" ต้นแบบแก้จนเพิ่มรายได้เกษตรกร

 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2566 อาทิ มีเกษตรกร 13 ราย งดทำข้าวนาปรัง มีการปลูกปอเทืองและถั่วเขียวเพื่อปรับปรุงดินและเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โดยการสนับสนุนจากสถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานเกษตรจังหวัดนครราชสีมา 

รวมถึงการปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวและฟักทองด้วย สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสนับสนุนโค กระบือให้กับเกษตรกรยืมเพื่อการผลิต จำนวน 2 ราย รวมถึงการบูรณาการทำงานของท้องที่ ท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโครงการจึงประสบความสำเร็จ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกร

 

ปิดทองหลังพระฯ ดัน \"กำปังโมเดล\" ต้นแบบแก้จนเพิ่มรายได้เกษตรกร

 

อย่างไรก็ตาม จังหวัดนครราชสีมา ยังพิจารณาว่า โครงการซ่อมแซมเสริมศักยภาพระบบกระจายน้ำคลองลุง สามารถใช้เป็นต้นแบบแก้ไขปัญหาการกระจายน้ำเข้าสู่แปลงเกษตรกรในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากเป็นโครงการที่เกิดจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 

ดังนั้นจึงพิจารณานำโครงการระบบระบายน้ำดังกล่าวเป็น “กำปังโมเดล ต้นแบบการบูรณาการเพื่อการบริหารจัดการน้ำและเกษตรทฤษฎีใหม่” ในการแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำเข้าสู่พื้นที่การเกษตรในพื้นที่อื่น ๆ ของจังหวัดนครราชสีมาต่อไป