รู้จัก "ทุเรียนบาตามัส" ราชาทุเรียนแห่งสามจังหวัดชายแดนใต้

22 ก.ค. 2566 | 07:24 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ค. 2566 | 07:32 น.

รู้จัก "ทุเรียนบาตามัส" ราชาทุเรียนคุณภาพแห่งสามจังหวัดชายแดนใต้ ตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดและการสนับสนุน ผ่านโครงการของปิดทองหลังพระฯ สร้างรายได้ สร้างอาชีพ เสริมความมั่นคงทางด้านอาหาร

ทุเรียนบาตามัส” เป็นชื่อเรียกของทุเรียนในภาษามลายู ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ปลายด้ามขวานเรียกขานกัน มีความหมายว่า ทุเรียนหมอนทอง มีเอกลักษณ์สำคัญ คือ เนื้อละเอียด มีกลิ่นหอม และหวานละมุน จัดเป็นราชาทุเรียนของสามจังหวัดชายแดนใต้ ที่ผลิตโดยเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้ ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนกลุ่มใหญ่ที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จังหวัดยะลา นราธิวาส และปัตตานี 

เริ่มดำเนินการในจังหวัดยะลาเป็นแห่งแรกเมื่อปี 2561 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ 18 ราย ต้นทุเรียน 335 ต้น จากความสำเร็จในระยะแรก จึงได้ขยายพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส 

ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น ยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชนรวม 20 กลุ่ม และเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้อีก และยังช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น รายได้เปรียบเทียบได้ดังนี้

  • ปี 2562 (664 ครัวเรือน) รายได้รวม 96,967,515 บาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 146,035 บาท
  • ปี 2563 (645 ครัวเรือน) รายได้รวม 140,981,073 บาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 218,575 บาท
  • ปี 2564 (564 ครัวเรือน) รายได้รวม 11,642,956 บาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 206,435 บาท
  • ปี 2565 (270 ครัวเรือน) รายได้รวม 45,309,866 บาท เฉลี่ยครัวเรือนละ 254,550 บาท

 

"ทุเรียนบาตามัส" ราชาทุเรียนแห่งสามจังหวัดชายแดนใต้

กว่าจะมาเป็น ทุเรียนบาตามัส 

เกษตรกรชาวสวนทุเรียนผู้เข้าร่วมโครงการทุเรียนคุณภาพฯ ซึ่งได้รับการส่งเสริมโดย สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ต้องใช้เทคนิคการดูแล บำรุง รักษา ต้นทุนเรียน ให้ได้ทุเรียนเกรดพรีเมี่ยม ที่ สามารถสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้น นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรในสามจังหวัดชายแดนใต้

อย่างที่บอกว่าความพิเศษของทุเรียนบาตามัส คือความใส่ใจดูแลบำรุงรักษาของเกษตรกร ตั้งแต่การดูแล จัดการในสวนทุเรียน การพัฒนาระบบการให้น้ำ การบำรุงรักษาต้น-ใบ-ดอก-ผล รวมไปถึงการเก็บเกี่ยวที่ได้มาตรฐาน GAP พร้อมมีนักวิชาการของหน่วยงานเกษตรและสถาบันปิดทองหลังพระฯ ติดตาม ให้คำแนะนำเกษตรกรอย่างใกล้ชิด

ความมีคุณภาพของทุเรียนที่โครงการฯ พยายามสร้างให้เป็นมาตรฐานนั้น เกษตรกรจะต้องดูแลต้นทุเรียนตามขั้นตอนและวิธีการในคู่มือทุเรียนคุณภาพของโครงการฯ เช่น การตัดแต่งกิ่ง การใส่ปุ๋ยการผสมเกสร การแต่งดอก การฉีดพ่นสารป้องกันแมลง การตัดแต่งผล การกำจัดวัชพืช การให้น้ำและการโยงกิ่ง 

ต้องทำตลอดระยะเวลาการเติบโตของทุเรียนเพื่อให้ได้ทุเรียนคุณภาพตามความต้องการของตลาด คือผลผลิตเกรด AB 80% หนามเขียว และไม่มีหนอน ซึ่งต้องอาศัยการทำเกษตรที่ประณีต โดยจุดหมายปลายทาง คือ การทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น นำไปสู่การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้

 

"ทุเรียนบาตามัส" ราชาทุเรียนแห่งสามจังหวัดชายแดนใต้

เอกลักษณ์ ทุเรียนบาตามัส

“ทุเรียนบาตามัส” สุดยอดทุเรียนหมอนทางพันธุ์ดีจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับบาตามัส คือ ทุเรียนหมอนทองรสชาติดีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ด้วยความหอม หวานมัน เส้นใยน้อย ความละเอียดของเนื้อสูง บ่มจนรสชาติกลมกล่อม อร่อยจนได้รับสมญานามว่า ราชาทุเรียนชายแดนใต้ แตกต่างจากทุเรียนหมอนทองในแหล่งอื่น ๆ ของประเทศไทย

เปิดช่องทางจำหน่ายทุเรียนบาตามัส

การจำหน่ายทุเรียนแบบสั่งจองล่วงหน้า Pre-order เป็นรูปแบบหนึ่งในการส่งเสริมช่องทางการจัดจำหน่ายให้กับเกษตรกรในโครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเพิ่มมูลค่า 

โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับหลายหน่วยงานในพื้นที่ เช่น จังหวัดยะลา นราธิวาสและปัตตานี พาณิชย์จังหวัด กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพชายแดนใต้  มีจำนวนสมาชิกรวมกัน 253 ราย จาก 20 วิสาหกิจชุมชน  จำนวนทุเรียนกว่า 10,000 ต้น

 

"ทุเรียนบาตามัส" ราชาทุเรียนแห่งสามจังหวัดชายแดนใต้

 

ทุเรียนบาตามัส เปิดรับจอง (Pre-order) ผ่านระบบออนไลน์ผ่าน LINE MyShop ตั้งแต่วันนี้ จนกว่าสินค้าจะหมด พร้อมจัดส่งฟรีทางไปรษณีย์ ตั้งแต่ วันที่ 10 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป ในราคากล่องละ 1,800 บาท น้ำหนักรวม 8.5 กิโลกรัม/กล่องติดตามรายละเอียดได้ผ่านสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ