สกพอ.ปัดข้อเสนอเอกชนลุยไฮสปีด “สร้างไปจ่ายไป” ชง”เดินรถไปจ่ายไป”แทน

05 ธ.ค. 2566 | 03:37 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2566 | 06:16 น.

สกพอ.ปัดข้อเสนอเอกชนลุยไฮสปีด “สร้างไปจ่ายไป” ชง”เดินรถไปจ่ายไป”แทน แก้ปมพื้นที่ทับซ้อน หวั่น รับเงินก่อนแล้ว ทิ้งงานช่วงอื่น คาดเสนอ บอร์ดใหญ่อีอีซี ครม.ไฟเขียวแก้สัญญา ดันเดินหน้าตอกเข็ม หลังล่าช้ามานาน

โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 224,544 ล้านบาท ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ที่มีบริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เครือซีพี เป็นคู่สัญญา ยังต้องเจรจาในบางประเด็นโดยเฉพาะการก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อน ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ โครงสร้างร่วมระหว่าง รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีนกับไฮสปีดเชื่อม3 สนามบิน ซึ่งข้อเสนอเอกชนต้องการให้รฟท.เป็นผู้สร้างแทนเอกชน รูปแบบ “สร้างไปจ่ายไป”

ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อยุติ เพราะตามเงื่อนไขสัมปทานเอกชนต้องเป็นผู้สร้าง รัฐเพียงส่งมอบพื้นที่เท่านั้น ส่วนการจ่ายเงิน จะจ่ายต่อเมื่องานก่อสร้างแล้วเสร็จ และเปิดเดินรถทั้งระบบหากจ่ายให้เอกชนก่อน บางช่วงเกรงว่าเมื่อรับเงินไปแล้ว อาจทิ้งงานไม่ทำต่อในช่วงต่อไป

อย่างไรก็ตาม การเจรจาดังกล่าวยืดเยื้อมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่ผ่านมายังไม่ได้ข้อยุติโดยมองว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปีดดีลโดยเร็ว เพื่อไม่ให้โครงการล่าช้าไปกว่านี้ โดยแนวทางใหม่ ที่เสนอต่อเอกชนคือ เดินรถไปจ่ายไปน่าจะเหมาะสมกว่า

นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.)หรืออีอีซี กล่าวว่า ความคืบหน้าในประเด็นข้อเสนอ “สร้างไปจ่ายไป” บนพื้นที่ทับซ้อนโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีด) ไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมืองนั้น ปัจจุบันยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับเอกชนในเรื่องนี้เพื่อให้ได้ข้อยุติ

ขณะเดียวกันประเด็นดังกล่าวที่เป็นปัญหาอยู่นั้นตามหลักการในสัญญาระบุว่า หากสร้างแล้วเสร็จถึงจะชำระเงินให้เอกชนโดยที่ผ่านมาอีอีซีได้มีการหาแนวทางใหม่ คือ “เดินรถไปจ่ายไป” หากจะต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขสัญญาจะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่อีกครั้ง

“ในสัญญาระบุไว้ตั้งแต่แรกแล้ว ซึ่งต้องเจรจาไปพร้อมกันทีเดียว เพราะเป็นสาระสำคัญของหลักการที่ตกลงร่วมกัน ซึ่งภาครัฐจะไม่ลงทุนอะไรเลย โดยภาครัฐจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเพื่อดำเนินการก่อสร้างเท่านั้นหากดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมเดินรถ ภาครัฐถึงจะเริ่มดำเนินการชำระเงินให้แก่เอกชน ซึ่งเป็นแบบนี้มาตลอด”

ความคืบหน้าไฮสปีดเชื่อม3สนามบิน

นอกจากนี้ในช่วงที่ผ่านมาโครงการนี้เป็นสัมปทานที่มีการแข่งขันประมูล หากจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์กลางคันในทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการได้ ทำให้ภาครัฐต้องดำเนินการเจรจาร่วมกับเอกชนก่อน

 ที่ผ่านมาเงื่อนไขแก้สัญญาร่วมทุนฯและความเหมาะสมมี 3 เรื่องต่อเนื่องมาจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา ประกอบด้วย

1.การปรับเงื่อนไขการชำระเงินค่าสิทธิเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ช่วงพญาไท-สนามบินสุวรรณภูมิ จำนวน 10,671 ล้านบาท ปรับเป็นแบ่งชำระงวดละ 1,067 ล้านบาทต่อปี ไม่เกิน 7 งวด

2.การแก้ไขปัญหาโครงสร้างโครงการทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง

และ 3.ร่างสัญญาใหม่กำหนดให้3หน่วยงานภาครัฐจะชำระเงินร่วมลงทุนราว 120,000 ล้านบาท ทำให้รัฐประหยัดงบประมาณ 20,000 ล้านบาท ซึ่งมีเงื่อนไขว่ารัฐจะชำระเงินให้เอกชนได้ต่อเมื่อมีการเปิดให้บริการโครงการฯหลังจากนั้นรัฐจะทยอยชำระเงินค่าก่อสร้างให้เอกชนเร็วขึ้นเป็นเดือนที่ 21 จากเดิมที่จ่ายเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จหรือในปีที่ 6

โดยมีการลดระยะเวลาที่รัฐจ่ายค่าก่อสร้างจาก 10 ปี เป็น 7 ปี ซึ่งเอกชนจะลดผลตอบแทนโครงการไม่เกิน 5% เพื่อให้เอกชนมีแรงจูงใจในการก่อสร้างโครงการฯให้แล้วเสร็จอย่างไรก็ตามข้อแรกได้ข้อยุติแล้วส่วนที่เหลือต้องเจรจา ดังกล่าว

 แหล่งข่าวจากสกพอ. กล่าวว่า ความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่โครงการฯและการส่งมอบพื้นที่เพื่อสนับสนุนบริการของโครงการฯ (TOD มักกะสัน และศรีราชา) ของรฟท. ให้เอกชน ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุนฯ นั้น เอกชนร้องขอให้ รฟท. และ สกพอ. สนับสนุนการขอใช้และขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์บริเวณ TOD มักกะสัน โครงการฯ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการอนุญาตตามมาตรา 9 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 ซึ่งลำรางฯ ดังกล่าวไม่ใช่เงื่อนไขในการส่งมอบพื้นที่

ปัจจุบัน สกพอ. ได้ดำเนินการตามระเบียบข้างต้นแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เสนอญัตติขอความเห็นชอบกรณีการขอถอนสภาพลำรางสาธารณะประโยชน์ บริเวณพื้นที่มักกะสันในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยที่ 4 (ครั้งที่ 5) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 แล้ว เบื้องต้นการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากมีข้อมูลรายละเอียดจำนวนมากที่ฝ่ายบริหารกรุงเทพ มหานครต้องนำเสนอเพิ่มเติม

 แหล่งข่าวจากสกพอ. ระบุอีกว่า การส่งมอบพื้นที่โครงการ ช่วงพญาไท-ดอนเมืองปัจจุบันรฟท.ได้สิทธิครอบครองพื้นที่เวนคืนทั้งหมดแล้ว จำนวน 3 ไร่ 1 งาน 69.3 ตารางวา และพื้นที่หน่วยงานรัฐแล้ว ซึ่งเหลือการดำเนินงานขอใช้พื้นที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอพระบรมราชานุญาตต่อสำนักพระราชวัง โดยกระทรวงการคลังและกรมธนารักษ์ส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้วอยู่ระหว่างตรวจรับพื้นที่ ซึ่งรฟท. ยู่ระหว่างเจรจาค่าทดแทนอาคารสิ่งปลูกสร้างเพื่อจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันต่อไป

ด้านความคืบหน้า ช่วงดอนเมือง-บางซื่อ ดำเนินการโยกย้ายผู้บุกรุกแล้วเสร็จ จำนวน 15 หลัง ส่วนการรื้อย้ายสาธารณูปโภคช่วงดังกล่าว ขณะนี้ได้ดำเนินการรื้อย้ายสาธารณูปโภคแล้วเสร็จและพร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเพื่อก่อสร้างงานโยธาร่วมกับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ต่อไป ขณะที่ช่วงพญาไท-บางซื่อได้ดำเนินการโยกย้ายผู้บุกรุกแล้วเสร็จ จำนวน 255 หลัง ปัจจุบันได้ดำเนินการรื้อย้ายท่อนํ้ามันของ บริษัท ขนส่งนํ้ามันทางท่อ จำกัด แล้วเสร็จ ช่วงหน้าสถานีจิตรลดาคงเหลือช่วงลอดคลองสามเสน 250 เมตร คาดว่าจะดำเนินการเชื่อมต่อท่อส่วนที่เหลือทั้งหมดพร้อมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

 นอกจากนี้ยังมีการรื้อย้ายท่อรวบรวมนํ้าเสียของกรุงเทพ มหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างขอความเห็นชอบผลการจัดจ้างและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย คาดว่าจะรื้อย้ายให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนหลังลงนามสัญญาจ้าง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทยและกรุงเทพมหานครโดยล่าช้ากว่าแผนแล้ว 1 เดือน

 ปัจจุบันรฟท.มีความพร้อมส่งมอบพื้นที่ช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา แล้ว แต่อยู่ระหว่างรอเอกชนได้รับบัตรส่งเสริมจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเอกชนอยู่ระหว่างส่งเอกสารเพิ่มเติมเพื่อขอรับบัตรส่งเสริมฯ โดยเอกชนขอขยายระยะเวลาการออกบัตรส่งเสริมฯ ไปจนถึง 22 มกราคม 2567 โดยให้เหตุผลว่าอยู่ระหว่างการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ซึ่ง รฟท. และ สกพอ. เห็นว่า การแก้ไขสัญญาในส่วนของการชำระค่าสิทธิแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ไม่กระทบหลักการสำคัญของโครงการฯ ตามมติคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2560