วันนี้ (8 ธันวาคม 2566) คณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี ซึ่งมีตัวแทนจากภาครัฐ ฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง เตรียมหารือถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ของแรงงานทั่วประเทศ ในเวลา 9.00 น. หลังจากกระทรวงแรงงาน ได้รับทราบข้อเสนอของทางอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ที่เสนอรายละเอียดของการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ของแต่ละจังหวัดเข้ามาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า จากข้อมูลของทางจังหวัดที่ได้ส่งเข้ามา และกระทรวงแรงงานก็ได้มีการพิจารณารายละเอียด พบว่าเบื้องต้นการปรับขึ้นค่าจ้างคงปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไปตามความเหมาะสมกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน โดยการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะปรับเพิ่มขึ้นทุกจังหวัดแน่นอน ส่วนจะปรับขึ้นในอัตราเท่าไหร่นั้น บอกได้แค่ว่าแต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน
ทั้งนี้หากที่ประชุมไตรภาคีเห็นชอบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรอบใหม่แล้ว รมว.แรงงาน ยืนยันว่า จะเสนอเข้าครม. ได้ทันสัปดาห์หน้า คือ วันที่ 12 ธันวาคม 2566 หากครม.ไม่มีข้อทักท้วง และเห็นชอบแล้วจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้ได้ทันวันที่ 1 มกราคม 2567 ต่อไป
ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย หรือ ECONTHAI เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า การประชุมบอร์ดไตรภาคีวันนี้ จะมีการพิจารณาเรื่องของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการประชุมกันไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่ตกผลึกเรื่องของหลักในการคิดค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งเดิมใช้เกณฑ์เงินเฟ้อเฉลี่ย 3 ปี แต่ต่อมาอาจปรับเป็นการใช้ฐานเงินเฟ้อเพียงแค่ปีเดียว คือ ปี 2566 เป็นตัวตั้งแทน
“เชื่อว่าในการประชุมครั้งนี้น่าจะได้ข้อสรุปออกมาเกี่ยวกับเกณฑ์การคิดค่าแรงขั้นต่ำ ทั้งเรื่องเงินเฟ้อ รวมไปถึงการคิดค่าแรงขั้นต่ำของจังหวัดที่ผ่านมาคิดจากจีดีพีจังหวัดหารด้วยจำนวนคน ซึ่งออกมาในอัตราที่ต่ำ และลูกจ้างก็ไม่ยอม ดังนั้นในรอบนี้จะมาหารือกันจนตกผลึก โดยการปรับขึ้นรอบนี้แต่ละจังหวัดจะปรับขึ้นไม่เท่ากัน ซึ่งก็เป็นปกติเหมือนในปีที่ผ่านมา” ดร.ธนิต ระบุ