วันที่ 7 ธันวาคม 2566 เนชั่นโพล ร่วมกับ สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง "นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท"
โดยดำเนินการสำรวจในช่วงวันที่ 30 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2566 ในกลุ่มประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายใน 6 ภูมิภาค เพศ อายุ อาชีพ และระดับการศึกษาทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,222 ตัวอย่าง
การสุ่มตัวอย่างใช้การสุ่มโดยใช้ความน่าจะเป็น ด้วยวิธี Stratified Five-Stage Random Sampling แต่ละตัวอย่างที่ถูกเลือกมีค่าถ่วงน้ำหนัก (sampling weight) ที่แตกต่าง วิธีการสำรวจเป็นการลงพื้นที่สำรวจ 100% ค่าความผิดพลาด (error) ของการสำรวจอยู่ที่ 3% ที่ระดับความเชื่อมั่น 95% โดยผลการสำรวจ ปรากฎผล ดังนี้
ผลสำรวจในภาพรวม พบว่า ประชาชนเห็นด้วย ร้อยละ 72.46 เมื่อวิเคราะห์จำแนกตามเพศ พบว่า มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน เพศชาย ร้อยละ 74.52 และเพศหญิง ร้อยละ 55.76 ขณะที่เพศทางเลือก เห็นด้วย ร้อยละ 55.76
ขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป "เห็นด้วย" มากที่สุด ร้อยละ 78.46 รองลงมา คือ ผู้ที่มีอายุระหว่าง 46-59 ปี ร้อยละ 73.49 และ ผู้ที่มีอายุ 26-35 ปี ร้อยละ 72.49
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในกลุ่มคนว่างงาน จะเห็นด้วยกับนโยบายนี้ มากที่สุดถึงร้อยละ 90.37 ตามด้วยกลุ่มรับจ้างทั่วไป ร้อยละ 80.82 กลุ่มแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณ ร้อยละ 76.70 และกลุ่มพนักงาน/ลูกจ้างทั่วไป ร้อยละ 76.49 ตามลำดับ
โดยกลุ่มระดับประถมศึกษา หรือ ต่ำกว่า เห็นด้วย ร้อยละ 86.08 มัธยม/ปวช. ร้อยละ 78.24 และ อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 75.10
ในขณะที่เมื่อวิเคราะห์โดยจำแนกตามเพศ พบว่า กลุ่มอายุที่ "ไม่เห็นด้วย" มากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 18-25 ปี รองลงมา คือ 36-45 ปี โดยอาชีพที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุด คือ ข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ รองลงมาคือ นักเรียน/นักศึกษา และประกอบธุรกิจส่วนตัว/ค้าขาย ตามลำดับ ส่วนระดับการศึกษาที่ไม่เห็นด้วยมากที่สุด คือ สูงกว่า ป. ตรี รองลงมา คือ ป. ตรี