เส้นทางวิบากของนโยบายแจกเงินดิจิทัล

29 พ.ย. 2566 | 00:00 น.
อัพเดตล่าสุด :29 พ.ย. 2566 | 06:26 น.

เส้นทางวิบากของนโยบายแจกเงินดิจิทัล : คอลัมน์เศรษฐกิจ...อีกนิดก็หลักสี่ (.ศูนย์) โดย.. รศ.ดร.ศรายุทธ เรืองสุวรรณ ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3944

ล่วงเข้าเดือนพฤศจิกายน นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลก็เริ่มจะเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น หลังจากผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ คณะทำงานหลากหลายชุด จนได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า โครงการ “เงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล” ซึ่งกำเนิดขึ้นบน

สมมติฐานที่ว่า ระบบเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะชะงักงัน และต้องการกระตุ้นการบริโภคภาคเอกชน เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจเดินหน้าต่อไปได้ โดยนโยบายดังกล่าวต้องใช้เม็ดเงินจากงบประมาณแผ่นดิน ในการดำเนินโครงการไม่น้อยกว่า 500,000 ล้านบาท

เงื่อนไขหลักของการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินตามนโยบายดังกล่าว ได้แก่ ผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินดิจิทัล จะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งถือว่าเจาะจงเฉพาะกลุ่มมากขึ้น โดยเกณฑ์ที่รัฐบาลนำมาใช้ในการคัดกรองผู้มีสิทธิ คือ อายุ เงินเดือน และ เงินออม และเป็นที่น่าชื่นชมว่า รัฐบาลเริ่มเห็นปัญหาของการแจกเงินโดยไม่สนฐานะอย่างจริงจัง 

นอกเหนือจากการกำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิแล้ว รัฐบาลยังกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเงินดิจิทัลอีกด้วย เช่น สามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคได้เท่านั้น ไม่สามารถใช้กับบริการได้ ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ได้ ไม่สามารถซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชา และ พืชกระท่อม 

ไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณีได้ ไม่สามารถนำไปชำระหนี้ได้ ไม่สามารถจ่ายค่าเรียน ค่าเทอมได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือ ซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ และแลกเป็นเงินสดไม่ได้ แลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ ไม่ได้ เป็นต้น 

ด้วยการกำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายลักษณะนี้ เป้าหมายอุตสาหกรรมที่รัฐบาลจะเข้าไปกระตุ้น ก็น่าจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งก็นับเป็นเรื่องน่ายินดีอีกเรื่องหนึ่ง

แต่กระนั้นก็ตาม แหล่งเงินที่รัฐบาลจะนำมาใช้จ่ายเพื่อขับเคลื่อนนโยบายนี้จะมาจากการก่อหนี้สาธารณะ หรือพูดให้ง่ายขึ้นก็หมายความว่า รัฐบาลจะต้องกู้เงินจากตลาดการเงิน ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล และบันทึกไว้เป็นหนี้สินในงบดุลของประเทศ 

ประเด็นที่นักเศรษฐศาสตร์ และนักกฎหมายหลายต่อหลายคนต่างพากันวิตกกังวลอย่างยิ่งคงไม่พ้นข้อที่ว่า แท้จริงแล้ว เหตุผลและความจำเป็นของโครงการนี้ เพียงพอที่จะเป็นคำอธิบายที่มีน้ำหนักสำหรับการก่อหนี้สาธารณะหรือไม่ 

คำถามที่คาใจ คือ เศรษฐกิจไทยประสบกับวิกฤตจนกระทั่งต้องกู้เงินจำนวนมหาศาลมาพยุงระดับการบริโภคกระนั้นหรือ เพราะการก่อหนี้กว่าครึ่งล้านล้านนั้น ย่อมกระทบต่อความเชื่อมั่นในฐานะการคลังของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

มิพักต้องกล่าวถึงผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนในตลาดการเงิน ที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้น จากการแย่งชิงทรัพยากรทางการเงินในตลาดของรัฐบาลจากภาคเอกชน

การกระทำทางรัฐบาลต่อกรณีข้างต้น มีความสุ่มเสี่ยงต่อการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 62 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า

“รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐมีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ และจัดระบบภาษีให้เกิดความเป็นธรรมแก่สังคม”

และมีความสุ่มเสี่ยงที่จะกระทำผิดพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 7 ซึ่งบัญญัติว่า 
“การกู้เงิน การลงทุน การตรากฎหมาย การออกกฎ หรือการดําเนินการใด ๆ ของรัฐที่มีผลผูกพันทรัพย์สิน หรือ ก่อให้เกิดภาระทางการเงินการคลังแก่รัฐ ต้องพิจารณาความคุ้มค่า ต้นทุน และผลประโยชน์ เสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความยั่งยืนทางการคลังของรัฐด้วย”

และมาตรา 9 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า

“คณะรัฐมนตรีต้องไม่บริหารราชการแผ่นดิน โดยมุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว”

หากขมวดเรื่องราวให้ง่ายต่อการอธิบายก็คงได้ความว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท เป็นนโยบายที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้ในช่วงโค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2566 และหวังที่จะได้รับความนิยมอันจะนำมาสู่ชัยชนะการเลือกตั้งทั่วไป และเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล แต่สถานการณ์กลับมิได้เป็นดังที่คาดการณ์ไว้ 

                           เส้นทางวิบากของนโยบายแจกเงินดิจิทัล

แต่ก็เอาเถิด เหตุการณ์ทางการเมืองที่ฝุ่นตลบอบอวลประเทศไทยไประยะหนึ่งและอุ้มสมให้พรรคเพื่อไทย กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในท้ายที่สุด พรรคเพื่อไทยก็คงต้องรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้แก่พี่น้องประชาชน ด้วยการลงมือทำตามนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่ประกาศเอาไว้ 

แต่เรื่องราวมันไม่ได้ง่ายเหมือนที่ประกาศบนเวทีหาเสียงเลือกตั้ง เพราะกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลัง ที่เขียนไว้เหมือนรู้ล่วงหน้ากำหนดไว้แบบชัดเจนว่า ห้ามมิให้นำเอานโยบายหาเสียงมาทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเสียหาย และนโยบายดังกล่าวต้องคุ้มค่า และไม่กระทบต่อฐานะทางการคลังของรัฐ 

เงื่อนไขสองข้อนี้กลายเป็นเงื่อนรัดสำคัญ ที่รัฐบาลจะต้องแก้ปมให้กระจ่างโดยเร็ว ไม่ว่าจะเกี่ยวกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจที่จะต้องแจกเงินถ้วนหน้ากรณีนี้ และผลกระทบต่อฐานะทางการคลังของรัฐบาล และระบบเศรษฐกิจประเทศไทย

ถ้ารัฐบาลไม่สามารถตอบได้อย่างเสียงดังฟังชัด มัวแต่อ้อมแอ้ม กล้อมแกล้มไปเรื่อย ๆ ก็ฟันธงได้ว่า โอกาสที่นโยบาย “เงิน 10,000 บาทผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล” จะตายระหว่างทาง เหตุด้วยขัดต่อกฎหมายก็เป็นไปได้สูง

มิหนำซ้ำ ดาบนี้จะพาเอารัฐบาลล้มไปง่าย ๆ ก็เป็นได้