โครงสร้างพื้นฐานเครื่องยนต์สำคัญที่รัฐบาลใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เกิดการจ้างงานส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ล่าสุดการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ประกาศแผนพัฒนาระบบโครงข่ายทางพิเศษ(ทางด่วน)อย่างต่อเนื่อง จำนวน 11 โครงการ ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร วงเงินลงทุนสูงถึงกว่า 4 แสนล้านบาท เชื่อมการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานคร -ปริมณฑล
กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค สร้างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจลดการเผาไหม้พลังงานเชิงเพลิง ช่วยให้การการเดินทาง ขนส่งสินค้า การท่องเที่ยวเชื่อมระหว่างเมือง ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว รวมถึงยังช่วยจุดพลุทำเลทองที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ บริเวณจุดขึ้นลงโครงการ ประเมินว่า ผู้รับเหมารายใหญ่ทั้งไทยและต่างชาติ ต่างจ้องตาเป็นมันชิงความได้เปรียบ
ที่เป็นไฮไลต์ สนับสนุน จังหวัดเมืองท่องเที่ยวชายทะเล ฝั่งอ่าวไทย มี2โครงการที่น่าจับตา ได้แก่ โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด และ โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย จากอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปยังอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มองว่าจะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ดึงนักลงทุนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเข้าพื้นที่ได้มากขึ้น
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุขผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจุบันกทพ.มีแผนขยายโครงการทางพิเศษ (ทางด่วน) โดยตั้งเป้าภายใน 10 ปีข้างหน้าหรือภายในปี 2575 จะเดินหน้าโครงการที่สำคัญ จำนวน 11 โครงการ ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 4 แสนล้านบาท ครอบคลุมไปยังพื้นที่ในภูมิภาคในหลายจังหวัด เช่น สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, ตราด, เชียงใหม่, ขอนแก่น ฯลฯ
โดยกทพ.มีแผนศึกษาทางด่วนสายใหม่ ประกอบด้วย โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงิน 50,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างรอบริษัทที่ปรึกษาศึกษาออกแบบความเหมาะสมโครงการฯ คาดว่าศึกษาแล้วเสร็จกลางปี 2567 หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ PPP และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบปลายปี 2567
ทั้งนี้หากโครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย ศึกษาแล้วเสร็จ กทพ. จะเสนอรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เพื่อเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติดำเนินโครงการต่อไป หลังจากนั้นจะเริ่มคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนภายในปี 2571 และสามารถเริ่มงานก่อสร้างได้ทันที คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2575
ขณะที่โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงิน 10,000 ล้านบาท ปัจจุบันกทพ.อยู่ระหว่างดำเนินการประมูลจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อออกแบบความเหมาะสมโครงการ คาดว่าจะได้บริษัทที่ปรึกษาภายในต้นปี 2567 โดยใช้ระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปีครึ่ง หรือแล้วเสร็จภายในปี 2568
หากโครงการดังกล่าวสามารถขออนุมัติได้ภายใน 1 ปี กทพ.ประเมินว่า โครงการจะเริ่มกระบวนการเปิดประมูลได้ภายในปี 2571 ซึ่งคาดว่าการประมูลอาจจะใช้ทางเลือกในรูปแบบการประมูลระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) หลังจากนั้นจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2572 ใช้เวลาก่อสร้าง4 ปี คาดเปิดให้บริการปี 2576
โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด มีจุดเริ่มต้นโครงการบริเวณพื้นที่อำเภอแหลมงอบ เชื่อมข้ามทะเลอ่าวไทยไปสิ้นสุดโครงการที่อำเภอเกาะช้าง จุดประสงค์เนื่องจากปัจจุบันการเดินทางเข้าเกาะช้างโดยเรือเฟอร์รี่ที่ให้นำรถยนต์เข้าเกาะต้องใช้เวลาในการเดินทางเป็นเวลานาน 2-3 ชั่วโมง โดยเฉพาะช่วงวันหยุดยาว และเทศกาลสำคัญหากโครงการแล้วเสร็จจะช่วยลดระยะเวลาเดินทางส่งผลดีต่อนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่
ขณะแนวเส้นทางโครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย ศึกษาจุดเริ่มต้นโครงการฝั่งแผ่นดินใหญ่ 3 แห่ง ประกอบด้วย 1.บริเวณ กม.30+700 ของ ทางหลวงหมายเลข 4142 ในพื้นที่ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี ถัดจากทางเข้าท่าเรือราชาเฟอร์รี่ ประมาณ 3 กิโลเมตร 2.บริเวณ กม.4+900 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044 ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช บริเวณแยกแหลมประทับ 3. บริเวณ กม.9+400 ของทางหลวงชนบทหมายเลข นศ.4044
ในพื้นที่ตำบลท้องเนียน อำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช จุดสิ้นสุดโครงการจะอยู่ ในพื้นที่ตำบลตลิ่งงาม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประกอบด้วย 1. บริเวณ กม.5+650 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ด้านเหนืออ่าวพังกา 2. บริเวณ กม.6+100 ของทางหลวงหมายเลข 4170 (แยกพังกา) ซ้อนทับกับถนนท่าเรือไปเกาะแตน และ 3. บริเวณ กม.9+000 ของทางหลวงหมายเลข 4170 ท้ายอ่าวหินลาด
ที่สำคัญได้เร่งรัดระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก วงเงิน 17,000 ล้านบาท ล่าสุด เสนอกระทรวงคมนาคมและ อยู่ระหว่างรอความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังจากนี้จะเสนอต่อคณะกรรมการกทพ.และครม.เห็นชอบอนุมัติประมูลโครงการตอน N2 ภายในกลางปี 2567
“เราเร่งผลักดันโครงการตอน N2 หากการเสนอรอบนี้ไม่สำเร็จ จะยกเลิกประมูลโครงการทั้ง 2 ตอน เพื่อคืนพื้นที่ให้ประชาชน เนื่องจากได้ขอเวนคืนที่ดินประชาชนมา 25 ปีแล้ว ไม่อยากปล่อยให้พื้นที่ทิ้งร้างโดยเปล่าประโยชน์”
ส่วนโครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่ 3 (MR 10) วงเงิน 24,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเตรียมประกาศขายเอกสารการประกวดราคา ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลประมาณกลางปี 2567 ก่อสร้างได้ภายในปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดให้บริการปี 2570
นายสุรเชษฐ์ กล่าวต่อว่า โครงการทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต วงเงิน 15,000 ล้านบาท ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.แล้ว จากนั้นจะเสนอต่อครม.เห็นชอบ ปรับรูปแบบการร่วมลงทุนใหม่โดยโครงการนี้กทพ.จะเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างเองแทนการเปิดประมูลในรูปแบบระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 2571
“ปัจจุบันภูเก็ตมีปัญหาการจราจรติดขัด โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาความสูญเสียด้านอุบัติเหตุและทางเศรษฐกิจ เบื้องต้นการประมูลทางด่วนกะทู้-ป่าตอง จะรวมการประมูลส่วนต่อขยาย ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ เพื่อให้เกิดแรงจูงใจของเอกชนร่วมลงทุน โดยเป็นการแยกสัญญาในการประมูล ซึ่งการก่อสร้างสายกะทู้-ป่าตอง จะใช้ระยะเวลา5 ปี ขณะส่วนต่อขยาย ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้ อยู่ระหว่างสรุปผลการศึกษาโครงการฯคาดว่าจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.และครม.เห็นชอบ ภายในกลางปี 2567 ใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี โดยทั้ง 2 โครงการจะเปิดให้บริการภายในปี 2572”
ขณะที่โครงการทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) วงเงิน 35,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นเอกชนผู้ที่ได้รับสัมปทานมาร่วมทุนกับกทพ.เพื่อแลกกับการขยายสัญญาสัมปทานทางด่วนขั้นที่ 2 หรือทางพิเศษศรีรัช ระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน ประเมินจากการคาดการณ์รายได้ภายใน 1 ปี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โดยหักกับวงเงินลงทุนของโครงการฯ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ชุดใหม่และครม.พิจารณาเห็นชอบต่อไป
ด้านความคืบหน้าโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25กิโลเมตร วงเงิน 4,400 ล้านบาท ปัจจุบันศึกษาแล้วเสร็จอยู่ระหว่างเจรจาร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เพื่อร่วมลงทุน เนื่องจากโครงการนี้เป็นการแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด ซึ่งเป็นการส่งเสริมโลจิสติกส์ภายในท่าเรือ คาดว่าจะเริ่มการเจรจาได้ภายในปี 2567 หลังจากนั้นกทท.จะต้องเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.พิจารณา ก่อนเสนอกระทรวงคมนาคมและครม.เห็นชอบภายในปี 2567
สำหรับ 11 โครงการที่สำคัญของกทพ.ที่เร่งผลักดัน ได้แก่
1.โครงการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก ระยะทาง 18.7 กิโลเมตร วงเงิน 30,000 ล้านบาท
2.โครงการทางด่วนสายฉลองรัช-นครนายก-สระบุรี ช่วงจตุโชติ-ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร รอบที่3 (MR 10) ระยะทาง 16.2 กิโลเมตร วงเงิน 24,000 ล้านบาท
3.โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N2 ช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ ถึงถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 11.3 กิโลเมตร วงเงิน 17,000 ล้านบาท และตอน N1 ช่วงทางพิเศษศรีรัช-ถนนงามวงศ์วาน-ถนนประเสริฐมนูกิจ) ระยะทาง 11 กิโลเมตร วงเงิน 50,000 ล้านบาท
4.โครงการทางพิเศษ สายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต ระยะทาง 3.98 กิโลเมตร วงเงิน 15,000 ล้านบาท
5.โครงการส่วนต่อขยาย ช่วงเมืองใหม่-เกาะแก้ว-กะทู้จ.ภูเก็ต ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงิน 47,000 ล้านบาท
6.โครงการก่อสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 (Double deck) ระยะทาง 17 กิโลเมตร วงเงิน 35,000 ล้านบาท
7.โครงการถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯรอบที่3 ด้านทิศใต้ (สมุทรสาคร-สมุทรปราการ) ระยะทาง 71.กิโลเมตร วงเงิน 1.09 แสนล้านบาท
8.โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะสมุย ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงิน 50,000 ล้านบาท
9.โครงการทางด่วนเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด ระยะทาง 6 กิโลเมตร วงเงิน 10,000 ล้านบาท
10.โครงการทางด่วน สายศรีนครินทร์-ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ระยะทาง 18.5 กิโลเมตรวงเงิน 20,000 ล้านบาท
11.โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางด่วนสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ระยะทาง 2.25 กิโลเมตร วงเงิน 4,400 ล้านบาท
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ ทางด่วนS1 ได้ผ่าน การตรวจจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาสัดส่วนการลงทุนร่วมกับ กทพ. ทั้งนี้ตามแผนอยู่ระหว่างการทำร่างเอกสารประกวดราคา (TOR) โดย กทพ.จะเป็นผู้ประมูล ภายในช่วงเดือน มกราคม.-มีนาคม 2567 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปีงบประมาณ 2567 และเปิดให้บริการปี 2570
ด้านนางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หากมีโครงการภาครัฐ เปิดประมูลจะช่วยกระตุ้นกลุ่มผู้รับเหมาอุตสาหกรรมการก่อสร้าง ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้รับเหมาเท่านั้น เพราะตามปกติเมื่อมีงานออกมาส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับซัพพลายเชนทั้งหมด รวมถึงซัพพลายเออร์ที่ผลิตของส่งให้ผู้รับเหมาก่อสร้างและระบบโลจิสติกส์ จะได้รับการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยถือเป็นเรื่องที่ดี
“ปัจจุบันในหลายประเทศมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการออกโครงการก่อสร้างออกมาทั้งนั้น ซึ่งผู้รับเหมาส่วนใหญ่จะสนใจร่วมลงทุนกับโครงการภาครัฐ แต่เรามองว่าควรให้ผู้รับเหมาในไทยได้งานก่อสร้าง เนื่องจากเมื่อมีผู้รับเหมาต่างชาติเข้ามาร่วมประมูล ทำให้เม็ดเงินไหลออกไปอยู่ในต่างชาติ”
นางสาวลิซ่า กล่าวต่อว่า ปัญหาที่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างกังวลเมื่อร่วมลงทุนกับภาครัฐนั้น พบว่าปัจจัยหลักของงานก่อสร้างที่ยังกังวลคือการขึ้นค่าจ้างแรงงาน หากมีการขึ้นค่าจ้างแรงงาน แต่ไม่ได้มีการปรับขึ้นราคากลางตามไปด้วยจะส่งผลกระทบชัดเจน ซึ่งตามปกติค่าจ้างแรงงานอยู่ที่ 30% ของมูลค่างานก่อสร้าง ถือเป็นความเสี่ยงที่ค่าจ้างแรงงานจะขึ้นอยู่ที่เท่าไร
“สิ่งที่เรากลัวคือการขึ้นค่าจ้างแรงงาน หลังจากมีการประมูลโครงการภาครัฐแล้วเสร็จหรือขึ้นค่าจ้างแรงงานหลังจากที่ภาครัฐขึ้นราคากลางไปแล้วจะทำให้ราคากลางไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เชื่อว่าจะกระทบต่อโครงการที่มีการประมูล ซึ่งเป็นประเด็นที่จะสะท้อนถึงค่าเคด้วย ส่งผลให้ผู้รับเหมารับภาระหนัก”