แหล่งข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า ขณะนี้ยอดการจ่ายเงินอุดหนุนตามมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(อีวี) ในประเทศ ซึ่งเริ่มต้นในปี 2565 จนถึงปัจจุบันมียอดอยู่ที่กว่า 3,900 ล้านบาท คาดตลอดทั้งปีจะมียอดอุดหนุนที่กว่า 4,000 ล้านบาท
โดยจำนวนรถยนต์ที่ได้รับการชดเชยในขณะนี้ อยู่ที่ 6.7 หมื่นคัน ยังเหลือจำนวนรถยนต์ที่เตรียมเข้าร่วมมาตรการอีกประมาณ 7,000 คัน ดังนั้น ยอดรวมปี 66 จะอยู่ที่ประมาณ 7.4 หมื่นคัน
ส่วนปี 67 นั้น กรมฯ ได้ขอจัดสรรงบประมาณไว้แล้วจำนวน 1.7 หมื่นล้านบาท สำหรับมาตรการอุดหนุนดังกล่าว ซึ่งกรณีงบประมาณที่ล่าช้าจะไม่มีผลกระทบต่อโครงการ เพราะสามารถใช้งบพลางปีก่อนได้
โดยโครงการนี้ รัฐบาลชุดที่ผ่านมาได้อนุมัติโครงการอุดหนุนไว้รวม 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 65-68 มีกรอบวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจำนวน 4 หมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงเหลือวงเงินที่จะใช้ในปี 68 อีกประมาณ 2 หมื่นล้านบาท
“โครงการนี้ถือว่า เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยในระยะแรกยอดการซื้อรถอีวีอาจจะช้า แต่ได้ทยอยเพิ่มขึ้นในช่วงปีนี้ และคาดว่า ในปีต่อไปจะทยอยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง”
ทั้งนี้ ใน 2 ปีแรกที่เริ่มต้นโครงการ ค่ายรถยนต์จะนำเข้ารถยนต์อีวีเข้ามาทั้งคัน จากนั้น ในปีที่ 3-4 จะเป็นรถยนต์ที่ผลิตในประเทศ โดยขณะนี้ ค่ายรถยนต์ที่ร่วมโครงการได้เตรียมเริ่มต้นผลิตแล้ว โดยจะผลิตตามเงื่อนไขของมาตรการ คือ 1 เท่าในปีที่ 3 และ 1.5 เท่า ในปีที่ 4 ของยอดรถที่ขายได้
สำหรับมาตรการส่งเสริมการใช้รถอีวีนอกจากจะสนับสนุนด้านอัตราภาษีแล้ว รัฐยังให้เงินส่วนลดตั้งแต่ 7 หมื่นบาท ถึง 1.5 แสนบาทให้บริษัทรถยนต์ที่ทำสัญญาเข้าร่วมโครงการกับกรมฯ ไปจัดทำโปรโมชันส่งเสริมการขายเอง โดยบริษัทจะต้องสำแดงหลักฐานการซื้อขายและเปลี่ยนป้ายทะเบียนเป็นป้ายขาว เมื่อตรวจสอบแล้วว่าปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดแล้ว กรมฯจะคืนเงินให้เป็นรายไตรมาสต่อไป
“มาตรการ EV 3.5 รัฐจะให้เงินอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ตามประเภทของรถ และขนาดของแบตเตอรี่ตั้งแต่ 5 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท”