กรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 มีมติเห็นชอบการปรับ ขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามที่ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เสนอ โดยมีเป้าหมายการปรับฐานเงินเดือนใหม่ และรายได้ต่าง ๆ ให้กับผู้ที่จบปริญญาตรี และระดับปวช. ที่บรรจุเข้ารับราชการใหม่
โดยการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่บรรจุใหม่จะปรับเพิ่มให้ 2 กลุ่ม โดยภายใน 2 ปี จะปรับเพิ่มปีละ 10% นั่นคือ ผู้จบปริญญาตรี ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 18,000 บาท และ ผู้จบ ปวช. ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 11,000 บาท
พร้อมทั้งมีเงินชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบด้วยข้าราชการเดิมที่มีฐานเงินเดือนต่ำกว่าฐานของข้าราชการบรรจุใหม่ จะให้มีการปรับเงินเดือนเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยย้อนหลังให้ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ล่าสุดมีหน่วยงาน 2 แห่ง คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ทำความเห็นประกอบการพิจารณาของครม. เกี่ยวกับการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังนี้
สศช. ได้พิจารณาการปรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำและการปรับอัตราเงินเดือน สำหรับกลุ่มข้าราชการพลเรือนและเจ้าหน้าที่ของรัฐแล้ว เห็นควรให้ความเห็นชอบในหลักการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบ การปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ
โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ร่วมกับคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของข้าราชการประเภทต่าง ๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการแต่ละประเภท รวมทั้งกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
พร้อมทั้งประสานกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้รับหลักการและแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในส่วนของข้าราชการและพนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ควรพิจารณาให้มีการปรับระบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคลากรภาครัฐ ที่แสดงให้เห็นถึงความสามารถและศักยภาพในการปฏิบัติงาน ที่จะทำให้ภารกิจของหน่วยงานบรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เพื่อให้การจ่ายค่าตอบแทนสะท้อนถึงผลการปฏิบัติงานที่แท้จริง และยังจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบราชการในระยะยาว
สำนักงาน ก.พ.ร. พิจารณาแล้ว เห็นด้วยในหลักการของการปรับอัตราเงินเดือนแรกบรรจุและการปรับเงินเดือนชดเชยผู้ได้รับผลกระทบการปรับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว และแนวทางในการปรับปรุงประสิทธิภาพของระบบราชการตามรายงานผลการศึกษาตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่สำนักงาน ก.พ. เสนอดังกล่าว
ทั้งนี้มีความเห็นเพิ่มเติมคือ ควรให้ความสำคัญกับมาตรการหรือแนวทางปรับปรุงประสิทธิภาพการปฏิบัติงานของ ส่วนราชการและหน่วยงานภาครัฐที่จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่กับการปรับอัตราเงินเดือน
โดยให้หน่วยงานจัดทำแผนและดำเนินการตาม Digital Transformation Plan เพื่อยกระดับประสิทธิภาพภาครัฐที่ต้องปรับปรุงกระบวนงานและวิธีการทำงาน เพื่อลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ทันสมัยด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดิจิทัล
นอกจากนี้ควรให้หน่วยงานทบทวนบทบาทภารกิจ หน้าที่ และ อำนาจ เพื่อปรับปรุงภารกิจ และโครงสร้างที่หมดความจำเป็นหรือมีความซ้ำซ้อน รวมทั้งจัดทำและดำเนินการตามแผนการถ่ายโอนงานภาครัฐที่มอบภารกิจที่ภาครัฐไม่จำเป็นต้องดำเนินการเองให้ภาคส่วนอื่นรับไปดำเนินการแทน
ทั้งนี้ แนวทางดังกล่าวควรดำเนินการควบคู่กับการพัฒนาทักษะบุคลากร (Upskill) และ การสร้างทักษะใหม่ (Reskill) เพื่อนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐหรือการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าต่อไป
ขณะเดียวกันควรเร่งเชื่อมโยงและบูรณาการฐานข้อมูลด้านกำลังคนภาครัฐขององค์กรกลางบริหาร ทรัพยากรบุคคลทุกประเภท และหน่วยงานหรือคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการ วิเคราะห์ ทบทวน กำหนดแนวทางการปฏิรูประบบราชการในภาพรวม หรือจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านกำลังคนและงบประมาณด้านบุคลากรภาครัฐของประเทศได้อย่างครบถ้วนและมีประสิทธิภาพด้วย