โฆษกรัฐบาล แจงยิบยังไม่ขึ้น "ค่าแรงขั้นต่ำ” 2567 แรงงานขอทบทวนเอง

12 ธ.ค. 2566 | 07:03 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2566 | 07:09 น.

โฆษกรัฐบาล “ชัย วัชรงค์” แจงมติบอร์ดไตรภาคี กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 วันนี้เสนอเข้ามาในครม. แต่แรงงานขอดึงกลับไปพิจารณาเอง ยันครม.ไม่มีอำนาจสั่งคณะกรรมการค่าจ้างไปทบทวนค่าแรงขั้นต่ำใหม่

วันนี้ (12 ธันวาคม 2566) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ ถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ว่า ที่ประชุมครม.ได้หารือถึงมติคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2567 ซึ่งกระทรวงแรงงาน ได้เสนอเข้ามาเป็นวาระเพื่อทราบ

แต่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สูตรการคิดค่าจ้างขั้นต่ำโดยใช้ฐานข้อมูลในปี 2563-2564 ซึ่งเป็นปีที่เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง เพราะเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาคำนวณอาจเกิดความไม่เหมาะสม และทำให้ได้ตัวเลขค่าแรงต่ำกว่าความเป็นจริง 

“รมต.พิพัฒน์ มองว่าการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอาจต้องไปดูตัวเลขที่เหมาะสม โดยตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ ซึ่งที่ประชุมครม.ก็รับทราบและแสดงความเห็นด้วยกับข้อสังเกตนั้น จึงให้สิทธิกับรมว.แรงงานว่าจะยืนยันเสนอให้รับทราบหรือไม่ ซึ่งรมว.แจ้งว่าขอถอนไปก่อน นับว่าครม.ได้ยินเฉย ๆ แต่ยังไม่ได้รับทราบอย่างเป็นทางการ” โฆษกรัฐบาล ระบุ

 

โฆษกรัฐบาล แจงยิบยังไม่ขึ้น \"ค่าแรงขั้นต่ำ” 2567 แรงงานขอทบทวนเอง

 

โฆษกรัฐบาล กล่าวด้วยว่า การเสนอขอถอนวาระเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำออกไปเป็นข้อสังเกตของ รมว.พิพัฒน์ ครม.ไม่มีอำนาจให้คณะกรรมการค่าจ้างทบทวนอะไรทั้งสิ้น ซึ่งจากนี้ต้องรอดูว่าข้อสรุปของคณะกรรมการค่าจ้างจะได้ข้อสรุปเมื่อใดอีกครั้ง

ทั้งนี้ในการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานนั้น คณะกรรมการค่าจ้าง ได้พิจารณาหลักเกณฑ์ในการคิดค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดไว้ชัดเจนตามมาตรา 87 แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2560 ฉบับแก้ไข ซึ่งกำหนดอัตราค่าจ้างต้องคำนึงถึงเกณฑ์ต่าง ๆ ทั้ง ฐานการคิดค่าจ้างขั้นต่ำรอบก่อน รวมทั้งดัชนีค่าครองชีพ เงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพของแรงงาน ตัวเลขจีดีพี และสภาพเศรษฐกิจและสังคม 

โดยคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 ได้มีการพิจารณาตามเกณฑ์ดังกล่าว โดยลงมติให้เพิ่มค่าจ้างตั้งแต่ 2-16 บาทต่อวัน ตามที่คณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเสนอมา โดยจะปรับอัตราสูงสุดในจังหวัดภูเก็ต วันละ 370 บาท และอัตราต่ำสุดในจังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา วันละ 330 บาท ซึ่งเบื้องต้นกำหนดระยะเวลาว่าจะให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป