แก้หนี้ ข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร เช็ค 3 แนวทางแก้หนี้ในระบบที่นี่

12 ธ.ค. 2566 | 10:27 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ธ.ค. 2566 | 10:39 น.

เปิด 3 แนวทาง"แก้หนี้ในระบบ" สำหรับกลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร เช็คเลยมาตรการแก้หนี้ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง

หลังจากรัฐบาลเดินหน้าแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบซึ่งถือเป็นวาระแห่งชาติ และได้เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ล่าสุดวันนี้รัฐบาล นำโดยนายกรัฐมนตรี "นายเศรษฐา ทวีสิน " ก็ได้ประกาศแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ พร้อมประกาศชัดเจนว่าการแก้ปัญหาหนี้ต้องแก้ให้จบภายในรัฐบาลชุดนี้

 

หนึ่งในการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ ที่รัฐบาลจัดให้เป็นวาระแห่งชาติ คือการแก้หนี้ กลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่มักจะมีหนี้กับสถาบันการเงิน และเป็นหนี้บัตรเครดิต ซึ่งกลุ่มนี้ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำ แต่มีภาระหนี้จำนวนมากจนเกินศักยภาพ  

 

สำหรับแนวทางแก้หนี้ ข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่รัฐบาลได้ให้แนวทางในวันนี้ ประกอบไปด้วย 3 แนวทาง ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องทำพร้อมกันทั้งหมด โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

แนวทางที่ 1

  • ลดดอกเบี้ยสินเชื่อไม่ให้สูงจนเกินไป เพราะเป็นกลุ่มที่มีรายได้ประจำและถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ 

แนวทางที่ 2 

  • โอนหนี้ทั้งหมดไปไว้ในที่เดียว  เช่น ที่สหกรณ์ เพื่อให้การตัดเงินเดือนนำมาชำระหนี้ทำได้สะดวก และสอดคล้องกับรายได้ของลูกหนี้ 

แนวทางที่ 3 

  • บังคับใช้หลักเกณฑ์การตัดเงินเดือน ให้ลูกหนี้มีเงินเดือนเหลือเพียงพอต่อการดำรงชีพ

 

แนวทางแก้หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล จากการคิดดอกเบี้ยสูงทำให้เป็นหนี้ค้างชำระ จะมีแนวทางดังนี้  

  • ปรับโครงสร้างหนี้ ผ่าน "คลีนิกแก้หนี้"
  • ผ่อนได้นาน 10 ปี
  • ลดดอกเบี้ยจาก 16-25 % เหลือ 3.5% ต่อปี

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้ในระบบ สำหรับกลุ่มข้าราชการ ครู ตำรวจ ทหาร ที่รัฐบาลได้ให้ไว้ 3 แนวทาง จะต้องทำพร้อมกันทั้งหมด พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่าง การแก้หนี้ครู ที่ปัจจุบันประสบปัญหาหนี้สินประมาณ 9 แสนราย ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาธนาคารออมสินที่มีสินเชื่อสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อแก้ไขหนี้บุคลากรภาครัฐที่ออกมาช่วยเหลือ โอนหนี้มาไว้ที่สหกรณ์และให้ลดดอกเบี้ยพิเศษ ช่วยลูกหนี้ลดภาระ 

 

ดังนั้นหากหน่วยงานอื่นๆพบว่าข้าราชการในสังกัด ประสบปัญหาหนี้สิน ให้ติดต่อธนาคารออมสินเพื่อขอสินเชื่อในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้กระทรวงศึกษาธิการก็มีกฎหมายข้อบังคับในการ หักเงินเดือนไปชำระหนี้ได้ไม่เกิน 70% ของเงินเดือน เช่นเดียวกับกระทรวงอื่นๆก็ให้มีหลักเกณฑ์คล้ายกันเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระให้ข้าราชการในสังกัดของตนเอง

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง