สวัสดีครับท่านผู้อ่านฐานเศรษฐกิจ และผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ เดือนนี้เข้าสู่เดือนสุดท้ายของปี 2566 แล้วนะครับ
บรรยากาศทางเศรษฐกิจและการลงทุนในปีนี้ โดยรวมถือว่าทรงตัว เมื่อเทียบกับปัจจัยมากมายที่เราประสบกันมาตลอดทั้งปี ทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศ สงครามในภูมิภาคตะวันออกกลาง ตลอดจนความผันผวนทางสถานการณ์การเงินทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ประเทศไทยมีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เห็นได้อย่างชัดเจนว่า รัฐบาลชุดใหม่ภายใต้การนำของ ท่านนายกฯ เศรษฐา มีความพยายามในการสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนในภูมิภาคต่างๆ ของโลกมั่นใจในศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทย
ไม่ว่าจะเป็นการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำระดับนานาชาติในหลายๆ เวที มีการพบปะผู้นำ และนักลงทุนรายใหญ่ชาวต่างชาติ โดยนำนักลงทุนชาวไทยไปร่วมสร้างความเชือมั่นด้วยเกือบทุกสัปดาห์ เราจะเห็นทางรัฐบาลเร่งลงพื้นที่ต่างๆ ในประเทศ เพื่อแก้ไขปัญหาในพื้นที่ และหาแนวทางสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุน ว่าประเทศไทยมีความพร้อม และรัฐบาลให้การสนับสนุนทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ
ทางการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และ เอกชนผู้พัฒนานิคมฯ ต่างๆ ได้รับอานิสงส์โดยตรงจากการเร่งเครื่องขับเคลื่อนนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเมื่อไม่นานนี้ ผม ผู้บริหาร และ พนักงานของกนอ. ได้มีโอกาสต้อนรับท่านนายกรัฐมนตรี ในโอกาสที่ท่านและทีมงานลงพื้นที่ตรวจราชการในจังหวัดสระแก้ว
ในการนี้ ท่านนายกฯ ได้ติดตามความคืบหน้าพื้นที่ก่อสร้างอาคารจุดผ่านแดนถาวร (บ้านหนองเอี่ยน) จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก ด่านศุลกากรอรัญประเทศ (ป่าไร่) และ ไปเยี่ยมพวกเราที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว
ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นางสาว พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล และผมได้มีโอกาสถ่ายทอดความเป็นมา ตลอดจนปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งส่วนหนึ่งคงต้องเป็นนโยบายจากทางรัฐบาลต่อท่านนายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ก่อสร้างตามมติ ครม. แล้วเสร็จพร้อมเปิดดำเนินการในปี 2562
โครงการมีพื้นที่ทั้งสิ้น 660 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณูปโภค พื้นที่สีเขียว 64 ไร่ มีพื้นที่ขายเช่า (เป็นพื้นที่ราชพัสดุ) 433 ไร่ ปัจจุบันสามารถขายเช่าได้แล้ว 26 ไร่
ผู้ประกอบการที่เข้ามาลงทุน 4 ราย ได้แก่ อุตสาหกรรมการนำเข้า-ส่งออกเสื้อผ้า 3 ราย อุตสาหกรรมทำเบาะรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ 1 ราย มีผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจจะเช่าพื้นที่ แต่ยังไม่แจ้งประกอบกิจการ อีก 2 ราย
สำหรับการกระตุ้นการลงทุนในนิคมฯ นั้น เราพยายามดึงศักยภาพและจุดเด่นของเราออกมาจูงใจนักลงทุน อาทิ การปรับแก้ให้นิคมฯ สามารถรองรับประเภทการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น การเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานให้แก่นักลงทุน
การอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการลงทุนทั้งระบบไฟฟ้า น้ำประปา โทรคมนาคม การสร้างความได้เปรียบ และโอกาสด้านโลจิสติกส์แก่นักลงทุน รวมถึงสิทธิประโยชน์ด้านภาษี และสิทธิประโยชน์ที่ไม่ใช่ด้านภาษี เป็นต้น
ขณะเดียวกัน เราได้รายงานให้ท่านนายกฯ ทราบถึงปัญหาที่ทำให้นักลงทุนยังไม่กล้าตัดสินใจ เช่น อัตราค่าเช่าที่ดินที่ยังมีราคาสูง เนื่องจากต้นทุนของที่ดิน ที่มาในราคาที่ค่อนข้างสูง
ผมมีความมั่นใจว่า ความพยายามในการลงพื้นที่ตรวจราชการของท่านนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีตามพื้นที่ต่างๆ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นต่อการลงทุนในพื้นที่
โดยเฉพาะพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ดังเช่นที่นิคมฯ สระแก้ว และจะเป็นการกระตุ้นการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ สร้างเม็ดเงินและความเข้มแข็งสู่ภูมิภาคต่างๆ ของประเทศไทยต่อไป