สวัสดีครับท่านผู้อ่านฐานเศรษฐกิจและผู้อ่านคอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ เมื่อช่วงก่อนหน้านี้ผมมีโอกาสแชร์เรื่องความคืบหน้าในการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมสมาร์ท ปาร์ค จ.ระยอง ซึ่งเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือ กนอ. อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง และจะแล้วเสร็จในปี 2567 โดยเป็นนิคมฯ แห่งใหม่ที่รองรับการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-Curve) ที่มีนวัตกรรม และใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เดือนนี้ผมจะขออัพเดทโครงการก่อสร้างที่สำคัญอีกโครงการหนึ่งของ กนอ. คือ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 จ.ระยอง โดยเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กนอ.มีโอกาสนำเสนอข้อมูลความคืบหน้าของโครงการแก่รัฐบาลในขณะนั้น ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้คณะรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า โครงการดังกล่าวจัดตั้งขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมของไทย และเพื่อรักษาความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ
การก่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 บนพื้นที่ 1,000 ไร่ มีมูลค่าการลงทุนประมาณ 55,400 ล้านบาท
ประกอบด้วย ช่วงที่ 1 การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วยงานถมทะเล ในส่วนของงานถมทะเลได้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) วิเคราะห์ผลกระทบด้านสุขภาพ (EHIA) ผ่านเวทีประชาพิจารณ์จากผู้เกี่ยวข้อง ผู้มีส่วนได้เสีย ตัวแทนประชาชนทุกกลุ่ม พร้อมแสดงตัวชี้วัดให้ประชาชนในพื้นที่มั่นใจว่า โครงการนี้จะไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพในอนาคตอย่างแน่นอน และช่วงที่ 2 การลงทุนท่าเทียบเรือสินค้าเหลว
สำหรับโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 นี้ ถือว่าเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การยกระดับภาคอุตสาหกรรม และมิติเศรษฐกิจในอนาคต โดยจะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่ง และ โลจิสติกส์ทางน้ำของอาเซียนสู่เศรษฐกิจนานาชาติ เชื่อมโยงแกนพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก : ท่าเรือแหลมฉบัง-มาบตาพุด เชื่อมต่อกับกัมพูชาและเวียดนาม ที่รองรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมเหล็กครบวงจร อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี และ อุตสาหกรรมโซดาแอช เป็นต้น
อีกทั้งยังเป็นประตูการค้า เชื่อมโยงกับภูมิภาคอาเซียนรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมหลักของประเทศ S-Curve และ New S-Curve และเป็นปัจจัยเสริมให้ประเทศไทยมีความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญครบวงจรทั้งทางบก เช่น รถไฟรางคู่ มอเตอร์เวย์ ทางน้ำ เช่น ท่าเรืออุตสาหกรรม และทางอากาศ : สนามบินอู่ตะเภา
มิติด้านสังคม จะมีส่วนต่อการพัฒนาพื้นที่และท้องถิ่น เกิดการจ้างงาน สร้างเศรษฐกิจชุมชน เกิดการหมุนเวียนของกระแสเงิน เพิ่มรายได้แก่ประชาชนในพื้นที่ และส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม
นอกจากนี้ ยังเป็นการสนับสนุนแผนของกระทรวงพลังงาน ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยคาดว่าจะเกิดผลตอบแทนทางการเงิน ประมาณการรายได้ตลอดระยะเวลาประกอบกิจการ 30 ปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท
ปัจจุบันความคืบหน้าช่วงที่ 1 การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยเอกชนที่ร่วมลงทุนจะได้สิทธิในการพัฒนาพื้นที่ท่าเทียบเรือก๊าซ (แปลง B) เนื้อที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 1,415 เมตร เป็นระยะเวลา 30 ปี
โดยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562 กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือฯ มาบตาพุด ระยะที่ 3 (ช่วงที่ 1) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด (GMTP) กนอ. ร่วมลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และให้ GMTP ลงทุนท่าเรือก๊าซ โดยในปี 2563 กนอ. ได้ดำเนินการประกาศเขตเปลี่ยนแปลงพื้นที่นิคมฯ มาบตาพุด และขอใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจากกรมเจ้าท่า เพื่อให้ GMTP สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานได้ตามที่กำหนดในสัญญาร่วมลงทุน
ช่วงที่ 2 การคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนบนพื้นที่ที่ได้จากการถมทะเลในช่วงที่ 1 ประกอบด้วยพื้นที่ 2 แปลง คือ พื้นที่พัฒนาท่าเทียบเรือเหลว (แปลง A) เนื้อที่ 200 ไร่ ความยาวหน้าท่า 814 เมตร และพื้นที่สำหรับคลังสินค้าและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (แปลง C) เนื้อที่ 150 ไร่ เป็นระยะเวลา 30 ปี ซึ่ง กนอ. อยู่ระหว่างดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ (ช่วงที่ 2) เพื่อคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนพัฒนาท่าเรือสำหรับสินค้าเหลว (แปลง A) และพื้นที่คลังสินค้าหรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง (แปลง C)
ปัจจุบันความคืบหน้าโครงการช่วงที่ 1 นั้น ภายหลังจากวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่ กนอ. ลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการฯ (ช่วงที่ 1) กับบริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด แล้ว กนอ. ได้ออกหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน ระยะที่ 1 (NTP1) เพื่อกำหนดวันเริ่มต้น นับระยะเวลาของโครงการฯ และวันเริ่มงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และงานออกแบบท่าเรือก๊าซ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างบริษัท GMTP ก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐาน
โดยมีความก้าวหน้าของงานก่อสร้างสะสม ณ วันที่ 8 กันยายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 62.98 และช่วงที่ 2 อยู่ระหว่าง กนอ. ดำเนินการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการฯ (ช่วงที่ 2) โดย กนอ. ประกาศเชิญชวนและขายเอกสารการคัดเลือกเอกชนแล้ว อยู่ระหว่างเอกชนจัดเตรียมเอกสารเพื่อยื่นข้อเสนอต่อไป
เมื่อโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แล้วเสร็จ ผมเชื่อมั่นว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยจะบรรลุเป้าหมาย ในการพัฒนาท่าเทียบเรือสำหรับรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และสินค้าเหลวในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ก่อให้เกิดการกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ตามเป้าหมายของรัฐบาลครับ