แบรนด์ กนอ. ครึ่งศตวรรษ สู่การปรับโฉมภาพลักษณ์ใหม่

31 พ.ค. 2566 | 04:45 น.
อัปเดตล่าสุด :31 พ.ค. 2566 | 04:50 น.

แบรนด์ กนอ. ครึ่งศตวรรษ สู่การปรับโฉมภาพลักษณ์ใหม่ : คอลัมน์รอบด้านการนิคมฯ โดย...รศ.ดร.วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3892

ตลอดระยะเวลากว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาของ กนอ. ได้พิสูจน์แล้วว่า เราเป็นองค์กรที่อยู่เคียงคู่อุตสาหกรรมไทยมาทุกยุคทุกสมัย นับตั้งแต่ยุคที่รัฐบาลขณะนั้นริเริ่มแนวคิดส่งเสริมอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศไทย

ในปี 2515 กนอ. ก็เริ่มก่อตั้งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมของประเทศด้วยการจัดตั้ง “นิคมอุตสาหกรรม” เพื่อการจัดสรรพื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมให้เข้าไปอยู่รวมกันอย่างมีระบบ และ กนอ. สามารถดำเนินกิจการต่างๆ ที่จำเป็น หรือ เป็นประโยชน์แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงเป็นการขยายขอบเขตของการพัฒนาพื้นที่ จากภาคอุตสาหกรรมสู่ภาคบริการได้อย่างเป็นระบบ


ด้วยพัฒนาการที่ยาวนานดังที่กล่าวมานี้ ปัจจุบัน กนอ. มีนิคมอุตสาหกรรม 68 แห่ง 1 ท่าเรืออุตสาหกรรม กระจายอยู่ใน 16 จังหวัด ซึ่งเป็นนิคมฯ ที่ กนอ. ดำเนินการเอง 15 แห่ง และนิคมฯ ที่ กนอ. ร่วมดำเนินการกับผู้พัฒนานิคมฯ 53 แห่ง โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือ ยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศไทยให้ก้าวสู่สากล และทันกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก

ทั้งนี้ เพื่อยกระดับให้ภาคอุตสาหกรรมของไทย สามารถก้าวต่อไปได้อย่างยั่งยืนในอนาคต กนอ. ในฐานะองค์กรที่ทำหน้าที่ผลักดันภาคอุตสาหกรรมของไทยให้เติบโตมาตลอดกึ่งศตวรรษที่ผ่านมา ได้ตระหนักอยู่เสมอว่า เราจำเป็นต้องเร่งปรับตัว และเพิ่มสมรรถนะของตนเองให้เข้มแข็ง เพื่อที่จะก้าวไปให้ทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรมของโลกได้อย่างทันท่วงที

เพื่อนำพาภาคีเครือข่าย และผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยให้ก้าวเข้าสู่สากลอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน กนอ. จึงได้ปรับแนวคิดและวิธีการทำงาน ปรับโฉมการให้บริการ รวมถึงภาพลักษณ์องค์กร เพื่อให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มีความทันสมัยและเป็นสากลยิ่งขึ้น

ดังนั้น กนอ. จึงศึกษาการรีแบรนดิ้งให้มีความทันสมัย และมีความเป็นสากล พร้อมกับออกแบบ “ตราสัญลักษณ์รอง” อย่างเป็นทางการ เพื่อใช้ในการสื่อสาร และงานประชาสัมพันธ์ของ กนอ. ในระดับชาติ และ นานาชาติ

โดย กนอ. จะมีการปรับมาใช้ตราสัญลักษณ์รองเพื่อสื่อสารถึงความเป็นองค์กรที่ทันสมัยของ กนอ. มากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ กนอ. ยังยึดถือและคงมั่นไว้อยู่เสมอ คือ การให้ความสำคัญในการสนับสนุนเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และการดูแลชุมชนอย่างเข้าถึงและเข้าใจ ซึ่งปรากฏและสื่อความหมายอย่างชัดเจนในตราสัญลักษณ์รอง

                    แบรนด์ กนอ. ครึ่งศตวรรษ สู่การปรับโฉมภาพลักษณ์ใหม่

ทั้งนี้ ตราสัญลักษณ์รอง กนอ. ยังคงรูปแบบเดิม คือ ฟันเฟือง 6 แฉก และสีม่วงที่เป็นสัญลักษณ์ของอุตสาหกรรม แต่ในตราสัญลักษณ์รองนั้นมีการใช้เครื่องหมาย Infinity 3 ตัว มาร้อยเรียงกัน ซึ่งแสดงถึง การดำเนินภารกิจหลักของ กนอ. ใน 3 มิติ ได้แก่ การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การดูแลชุมชน และ สิ่งแวดล้อม ซึ่งการจะสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนจะต้องสร้างทั้ง 3 ด้านนี้ไปด้วยกัน  และพยายามกระจายความยั่งยืนนี้ไปทุกภูมิภาคของประเทศ  
นอกจากนี้ ตรงกลางของสัญลักษณ์รอง Infinity จะเห็นตัว S ที่มา

จากคำว่า “Sustainable” โดยในตัว S นั้น แบ่งเป็น 2 สี  คือ สีเขียวที่หมายถึงสิ่งแวดล้อม และสีส้มที่หมายถึงชุมชน ซึ่งถูกโอบล้อมด้วยสีม่วงของอุตสาหกรรม

จากการเปิดตัวตราสัญลักษณ์รองนี้ ทำให้ปัจจุบัน กนอ. มีการใช้ตราสัญลักษณ์ 2 แบบ คือ ตราสัญลักษณ์เดิม เป็นตราสัญลักษณ์หลัก ใช้กับหัวกระดาษที่เป็นทางการ ได้แก่ หัวกระดาษจดหมาย บันทึก ซองจดหมาย ตราปั้มป์ และงานที่เกี่ยวข้องกับเอกสารราชการทั้งหมด

ขณะที่ตราสัญลักษณ์รองจะใช้การสื่อสารประชาสัมพันธ์ทั้งภายในและภายนอก เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อวีดีทัศน์ สื่อออนไลน์ พาวเวอร์พ้อยต์ หรือใช้ในการจัดอีเวนต์ต่างๆ ของ กนอ. สำนักงานใหญ่ และสำนักงานนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เป็นต้น

การรีแบรนดิ้งของ กนอ. ครั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของการเปลี่ยนแปลงของโลก ส่งเสริมภาพลักษณ์การเป็นองค์กรที่ทันสมัย และปรับตัวสู่สากลตามทิศทางโลกในการพัฒนาสู่ความยั่งยืน ความสมดุลของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งมีบทบาทโดยตรงต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยมาโดยตลอด

กนอ. ยังคงตอกย้ำบทบาทการเป็นฟันเฟืองหลักของภาคอุตสาหกรรมไทย ผ่านการปรับโฉมภาพลักษณ์ให้เข้ากับโลกยุคใหม่ที่ทันสมัยด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเป็นองค์กรที่เข้าถึงทุกกลุ่มได้ง่าย และเป็นมิตร 

ผมเชื่อว่าการรีแบรด์ครั้งนี้จะช่วยตอกย้ำภารกิจของ กนอ. ในการเป็น Co-Creation หรือ ผู้ร่วมสร้างสรรค์การพลิกโฉมอุตสาหกรรมไทยกับภาคีเครือข่าย อันจะเป็นไปตามเป้าประสงค์ที่ กนอ. ได้วางไว้ นั่นคือ การนำพาอุตสาหกรรมไทยสู่สากลอย่างยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ของเราครับ