ม.อ.หนุน รัฐตั้ง“กรมฮาลาล” ชงยุทธศาสตร์พัฒนาทั้งระบบ

15 ธ.ค. 2566 | 06:18 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ธ.ค. 2566 | 06:29 น.

ผอ.สถาบันฮาลาล ม.อ. หนุนรัฐตั้ง “กรมฮาลาล” เสนอ 4ข้อ พัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งระบบ แนะดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกำหนดยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนสร้างมาตรฐาน-ความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

 การหารือทวิภาคีกลุ่มเล็กของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กับ ดาโตะ เซอรี อันวาร์ อิบราฮิม (Dato’ Seri Anwar Ibrahim) นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2566  ณ  ด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ จังหวัดสงขลา   โดยรัฐบาลไทยมีแผนจัดตั้ง “กรมฮาลาล” ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรม

ม.อ.หนุน รัฐตั้ง“กรมฮาลาล” ชงยุทธศาสตร์พัฒนาทั้งระบบ

ทั้งนี้ ฝ่ายไทยจะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานของมาเลเซีย  เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางด้านอาหารฮาลาล รวมถึงการกำหนดมาตรฐานและความถูกต้องของสินค้าและอาหารฮาลาลด้วย  และจะผลักดันให้เกิดความก้าวหน้า 

ผศ.ดร.อัสมัน แตอาลี ผู้อำนวยการสถาบันฮาลาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ให้ความเห็นว่า ถ้ามีกรมฮาลาล มาสนับสนุนการพัฒนาสินค้าฮาลาล โดยเฉพาะการผลิตสินค้าฮาลาล การสร้างความเชื่อมั่น ความเชื่อใจให้แก่ผู้บริโภคมุสลิม โดยไม่ซ้ำซ้อนเรื่องการรับรอง ซึ่งมีองค์กรศาสนาทำหน้าที่อยู่แล้ว  คิดว่ากรมฮาลาลจะสนับสนุนการขับเคลื่อนในเรื่องการสร้างโอกาสและช่องทางที่จะทำให้ธุรกิจฮาลาลของไทยเติบโตมากขึ้นในอนาคต  

สำหรับบทบาทของ กรมฮาลาล ที่อยากเห็นคือ ข้อแรกการทำงานตามความถนัดและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงาน ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตอนนี้  ถ้าได้กรมฮาลาลมาจัดระเบียบตรงนี้ จะทำให้งานด้านฮาลาลลื่นไหลและเป็นระบบมากขึ้น ไม่ว่าภาครัฐ องค์กรศาสนา สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการ ทั้ง 4 ส่วนน่าจะจัดระบบให้เข้มแข็ง และมีทิศทางเดียวกัน

ข้อสอง เรื่องงบประมาณที่จะสนับสนุนอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล อยากให้กำหนดยุทธศาสตร์การสร้างกำลังคนด้านฮาลาลในแต่ละปี เพื่อให้โรงงานต่าง ๆ ที่ผลิตสินค้าฮาลาลสามารถสร้างความเชื่อมั่น ความมั่นใจต่อผู้บริโภคมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งประเทศไทยไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ถ้าสร้างคนด้านฮาลาลไปทำงานประจำในแต่ละสถานประกอบการ จะสร้างความเชื่อมั่นได้มากขึ้น

ม.อ.หนุน รัฐตั้ง“กรมฮาลาล” ชงยุทธศาสตร์พัฒนาทั้งระบบ

ข้อสาม อยากจะให้มีการเชื่อมโยงกับงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อยากเห็นการเชื่อมโยงกับสถาบันการศึกษา ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้เอาความรู้มาประยุกต์ไม่ว่าเรื่องอาหารฮาลาลหรือการบริการ โลจิสติกส์ฮาลาล ท่องเที่ยวฮาลาล เครื่องสำอางฮาลาล   ซึ่งมีอยู่แล้วในอุตสาหกรรมตอนนี้ เพียงแต่การวิจัยในเชิงลึก และการสร้างความรู้ ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ยังน้อย เมื่อผู้บริโภคที่มีความรู้เรื่องนี้  มาตรวจสอบกรณีที่มีความรู้สึกคลางแคลงใจจะเป็นปัญหาสำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจที่แท้จริง

ข้อสี่ การสร้างงานสร้างอาชีพใหม่ในด้านฮาลาล เป็นสิ่งสำคัญ เพราะยังไม่มีมาก่อน แต่เราสามารถสร้างได้ เนื่องจากพื้นที่ด้านนี้มีอยู่แล้ว ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา หรือบัณฑิตที่เพิ่งจบ สามารถเข้าสู่ในเส้นทางนี้  จะทำให้เกิดอาชีพขึ้นมาใหม่ และสร้างงาน สร้างรายได้ ขึ้นมา

สำหรับอุตสาหกรรมฮาลาลในประเทศปัจจุบันมีทั้งสินค้าและบริการนั้น ถือว่าอยู่ในอันดับดีอยู่ ที่ได้รับการยอมรับ เพียงแต่การที่จะขยับให้ไปสู่ในระดับดีมาก หรือในขั้นที่สูงขึ้น หรือในระดับพรีเมียม จะต้องอาศัยการทำงานที่เป็นเอกภาพมากขึ้น  โดยเฉพาะคนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง  ต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องมากขึ้น

เรื่องฮาลาลละเอียดอ่อนมาก การที่ภาคธุรกิจหรือภาคอุตสาหกรรมหยิบมาโดยที่ไม่มีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ จะเป็นประเด็นในส่วนที่เขายังไม่เข้าใจ   แต่สิ่งที่สำคัญตอนนี้เป็นการยอมรับในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศมุสลิม ประเทศอาหรับ ตรงนี้จะสร้างเครดิตให้กับสินค้าฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับมากขึ้น ในอนาคตสินค้าฮาลาลของไทยจะเป็นขยับไปในระดับที่สูงขึ้นกว่านี้ แต่เราต้องสร้างความเข้าใจเรื่องกระบวนการผลิตที่ถูกต้องและมีคุณภาพด้วย ซึ่งเราทำได้ และเราไม่ได้แพ้คนอื่น ในการแข่งขันในตลาดโลก เพียงแต่ว่าในความเข้าใจอย่างถ่องแท้มันยังน้อยอยู่  

ส่วน กรมฮาลาล ซึ่งจะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุตสาหกรรมนั้น คิดว่าถูกที่ถูกทาง กระทรวงอุตสาหกรรมที่จะเป็นเจ้าภาพหรือแม่งานหลัก คิดว่าถูกต้อง เหมาะสม เพียงแต่ว่าไม่ควรที่จะเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรม อาจจะมีการบูรณาการในส่วนของการเกษตร ในเรื่องของพาณิชย์เข้ามาด้วย เราจะต้องมาระดมสมองวางยุทธศาสตร์ร่วมกัน  ซึ่งทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ พร้อมถ้ามีอะไรให้ช่วย

สำหรับภารกิจของสถาบันฮาลาล  ม.อ. ในปัจจุบัน เน้นการพัฒนากำลังคนด้านฮาลาล  มีหลักสูตรการจัดการระบบกิจการฮาลาล ซึ่งเปิดมาแล้ว 5 รุ่น   หลักสูตรดังกล่าวเป็นการพัฒนาทักษะ  ยกระดับทักษะ บัณฑิตที่จบใหม่ และผู้ที่กำลังทำงานอยู่ในสถานประกอบการที่อยากรู้และเข้าใจในระบบกิจการฮาลาลทั้งระบบ เริ่มตั้งแต่ความรู้ข้อบัญญัติ ข้อบังคับ ข้อกำหนดต่าง ๆ ในระเบียบมาตรฐานฮาลาล 

ในเรื่องของการตรวจสอบการผลิต การควบคุม และการกำกับดูแลในเรื่องการผลิตอาหารฮาลาลทุก ๆ ขั้นตอน และในเรื่องของการตลาดฮาลาล ทั้งการตลาดในประเทศ และการตลาดระหว่างประเทศ และสุดท้ายในเรื่องของการจัดระบบเอกสาร ซึ่งจะมีเอกสารการขอรับรองมาตรฐานฮาลาล การต่ออายุทั้งหมดที่เกี่ยวข้อ รวมถึงการขอมาตรฐาน GMP และ อย.ด้วย   

นอกจากนี้สถาบันฮาลาล ม.อ. จะทำต่อเรื่อง ฮาลาลโลจิสติกส์  และหลักสูตรการท่องเที่ยวฮาลาล  รอทางมหาวิทยาลัยอนุมัติ และที่กำลังทำคือหลักสูตรระยะสั้นของเชฟฮาลาล ระบบโรงเชือดฮาลาล และสปาฮาลาล  เป็นการให้บริการที่นำเสนอต่อประเทศมุสลิมได้รับรู้ว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการที่ถูกต้องตามหลักศาสนา