นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าการผลักดันอุตสาหกรรมฮาลาลสู่ตลาดโลกกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ล่าสุดกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติดำเนินการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาล และคณะทำงาน
ส่วนแนวทางการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลนั้น จะมีข้อเสนอกลไกลการบริหารงานศูนย์ฯในระยะสั้น 3 เดือน ได้แก่ จะต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนการค้าไทยที่รับผิดชอบเรื่องฮาลาล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยผู้แทนการค้าไทย เพื่อขับเคลื่อนวาระฮาลาล และทำหน้าที่กำกับดูแลศูนย์ฯ
หลังจากนั้นก็จะมีการขยายบทบาทและยกระดับศักยภาพสถาบันอาหารให้เป็นเจ้าภาพและศูนย์กลางการประสานงานเกี่ยวกับอุตฯฮาลาลของประเทศ (National Focal Point) เพื่อขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมฮาลาลของประเทศ (Nation Agenda)
รวมถึงจะต้องมีขอยืมตัวข้าราชการ (Secondment) พนักงานราชการ หรือบุคลากรจากหน่วยงานของรัฐ และเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปฏิบัติงานในศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลที่จัดตั้งขึ้นในระยะทดลอง 1 ปี และต้องขอรับงบอุดหนุนจากสำนักงบประมาณตามนโยบายของรัฐบาล
ส่วนระยะยาวสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ประเมินผลสัมฤทธิ์จากการดำเนินการ 1 ปีแรกตามตัวชี้วัดของการจัดตั้งศูนย์อุตสาหกรรมฮาลาลเพื่อปรับบทบาทตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ เมื่อตั้งคณะทำงานได้เรียบร้อยแล้วคาดว่าเบื้องต้นน่าจะต้องใช้งบประมาณอยู่ที่ 630 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นการใช้ในภารกิจส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ได้แก่
ขยายตลาดการค้าอุตสาหกรรมฮาลาลทั้งในและต่างประเทศ เช่น ซาอุดิอาระเบีย แอฟริกา จีน เป็นต้น โดยคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 550 ล้านบาท แบ่งเป็น
เจรจาจัดทำกรอบความร่วมมือในการขยายตลาดสินค้า และบริการฮาลาล 150 ล้านบาท
สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่ายฮาลาล (Thai Halal Network) ,ส่งเสริมและขยายตลาดผ่านกิจกรรมการจัดงาน HaLal Expro 2024/กิจกรรมทางการฑูต (งาน Thai Night) เพื่อเผยแพร่สินค้าฮาลาลไทย 300 ล้านบาท
ส่งเสริมประชาสัมพันธ์ และสร้างภาพลักษณ์ สินค้าและบริหารฮาลาลไทยในภารกิจ MICE เช่น ท่องเที่ยว การบิน การประชุม/นิทรรศการนานาชาติ 100 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีภารกิจพัฒนาการผลิตและมาตรฐาน โดยเป็นการยกระดับการผลิตและพัฒนาต้นแบบสินค้าฮาลาล 75 ล้านบาท แบ่งเป็น
พัฒนาผลิตภัรฑ์ฮาลาลต้นแบบเพื่อผู้บริโภคมุสลิม 25 ล้านบาท
พัฒนา/จัดทำ Role Model เพื่อยกระดับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมฮาลาล เพื่อการส่งออก เช่น โรงงานแปรรูป โรงฆ่าสัตว์ 50 ล้านบาท
สำหรับการการดำเนินการดังกล่าวเชื่อว่าภายในนระยะ 3 ปีจะสามารถทำให้จีดีพี (GDP) ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 55,000 ล้านบาท หรือประมาณ 1.2% ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรม
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สินค้าเป้าหมายในระยะแรกประกอบด้วย เนื้อสัตว์ ,อาหารทะเล ในรูปแบบของอาหารพร้อมรับประทาน (Ready-to-EAT) และอาหารฮาลาลโดยธรรมชาติ ,อาหารมุสลิมรุ่นใหม่ (Snack Bar) อีกทั้งยังมีสินรค้าประเภทแฟชั่นฮาลาล ,เครื่องสำอาง ,ยาสมุนไพร และท่องเที่ยว
อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่จะต้องบูรณาการทำงานร่วมกันเบื้องต้น ประกอบด้วย กระทรวงอุตสาหกรรม ,สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ,กรมเจาจรการค้าระหว่างประเทศ ,กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ,กระทรวงการต่างประเทศ ,กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
,สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ,สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ,สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ,กรมทรัพย์สินทางปัญญา
,สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ,สถาบันมาตรฐานฮาลาลแห่งประเทศไทย ,กรมประมง/กรมปศุสัตว์/กรมวิชาการเกษตร ,กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก/กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
,สถาบันอาหาร ,ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล (จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ,สถาบันฮาลาล (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) และห้องปฏิบัติการกลาง
"ปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมฮาลาลมีหลายหน่วยงาน เพราะฉะนั้น จะต้องรวบรวมทุกหน่วยงานเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ขับเคลื่อนนโยบายไปในทิศทางเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ"