สถานการณ์ “แรงงานนอกระบบ” ของไทยยังคงมีจำนวนสูงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ดร.ปิยนุช วุฒิสอน ผู้อำนวยการ สำนักงานสถิติแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากการสำรวจข้อมูลภาพรวมสถานการณ์แรงงานนอกระบบในปี 2566 พบว่า ผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 40.1 ล้านคน เป็นแรงงานนอกระบบจำนวน 21.0 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 52.3% ซึ่งมากกว่าแรงงานในระบบที่มีจำนวน 19.1 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 47.7% ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
โดยครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบ พบว่า อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี และที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปที่ยังทำงานอยู่ประมาณ 5.1 ล้านคนนั้น เป็นแรงงานนอกระบบมากถึง 4.4 ล้านคน
ส่วนการสำเร็จการศึกษาของแรงงานนอกระบบ พบว่า เป็นผู้เรียนจบในระดับประถมศึกษามากที่สุด แต่เมื่อดูแนวโน้มการศึกษาที่จบของแรงงานนอกระบบ จะเห็นว่ามีแนวโน้มที่ดีขึ้นในทุกระดับการศึกษา
ขณะที่การทำงานของแรงงานนอกระบบ นั้น พบว่า กว่า 55.4% ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม โดยมีชั่วโมงทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ของแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยต่อเดือน พบว่าลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบยังคงมีค่าจ้างต่ำกว่าลูกจ้างในระบบเกือบ 2 เท่า
อีกทั้งมีแรงงานนอกระบบ 28.2% ที่ประสบปัญหา โดยเป็นปัญหาจากการทำงานมากที่สุด เช่น ค่าตอบแทน งานขาดความต่อเนื่องงานหนักเกินไป เป็นต้น
ดร.ปิยนุช สรุปว่า ในปี 2566 ยังคงมีจำนวนแรงงานนอกระบบมากกว่าแรงงานในระบบ โดยประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานนอกระบบทำงานในภาคเกษตรกรรม และมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ต่ำกว่าแรงงานในระบบ ในขณะที่ค่าจ้างเฉลี่ยของลูกจ้างที่เป็นแรงงานนอกระบบยังคงได้รับค่าจ้างค่อนข้างต่ำ
ดังนั้น จึงต้องมีการดูแลและส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบได้รับความคุ้มครองหรือเข้าถึงหลักประกันทางสังคมให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของแรงงานนอกระบบต่อไป
อย่างไรก็ตามในการสำรวจแรงงานนอกระบบนั้น สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้มีการสำรวจเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะการทำงาน และปัญหาที่เกิดจากการทำงานของแรงงานนอกระบบ ซึ่ง แรงงานนอกระบบ นั้นหมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับการคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน