นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยในงานสัมมนา GO THAILAND 2024 GREEN ECONOMY LANDBRIDGE โอกาสทอง? ช่วง Lanbridge : โอกาสและความท้าทาย ว่า แลนด์บริดจ์เป็นโครงการที่ได้ยินมานาน ซึ่งไม่ใช่โครงการใหม่ ในปี 2565 พบว่ามีปริมาณการขนส่งสินค้าทั่วโลกอยู่ที่ 37.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีปริมาณขนส่งสินค้าในภูมิภาคเอเชียประมาณ 40% และยุโรป 38% คิดเป็นการนำเข้าสินค้าประมาณ 19 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและการส่งออกสินค้าประมาณ 18.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการขนส่งสินค้าทางน้ำ
ทั้งนี้ยังพบว่ามีประเทศที่ผลิตน้ำมันเพื่อส่งออกมาช่องแคบมะละกาหลายประเทศ ดังนี้ 1.สหรัฐอเมริกา 2.ซาอุดิอาระเบีย 3.รัสเซีย 4.แคนาดา 5.จีน 6.สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรต 7. อิหร่าน ฯลฯ ส่งผลให้มีปริมาณเรือขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกาอยู่ที่ 85,000 ลำต่อปี คาดว่าในปี 2573 สามารถรองรับปริมาณเรือขนส่งสินค้าสูงสุดอยู่ที่ 122,000 ลำต่อปี ทำให้ช่องแคบมะลากาเป็นจุดที่มีความสำคัญต่อการขนส่งสินค้าทางทะเลโลกและมีอิทธิพลต่อกลุ่มประเทศในภูมิภาค
“ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ การจราจรทางเรือที่ติดขัดมีจำนวนมากขึ้น ทำให้เป็นปัจจัยที่จะเกิดการกระตุ้นโครงการแลนด์บริดจ์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้น ขณะเดียวกันไทยมีจุดแข็ง ที่คนไม่มีคือ ตำแหน่งที่ตั้ง ซึ่งอยู่ระหว่างกลางของเส้นทางการเดินเรือโลกที่มีความหนาแน่นมากแห่งหนึ่งของโลก ทั้งเส้นทางเรือขนส่งน้ำมันและตู้สินค้า”
นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าไทยจะได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ในตำแหน่งที่ตั้งนั้นอยู่กับไทยมานานแล้ว แต่ปัจจุบันยังได้รับความสนใจสูงขึ้น เนื่องจากความแออัดของช่องแคบมะลากา ซึ่งจะเต็มความจุภายใน 10 ปีข้างหน้าและความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศมหาอำนาจ ทำให้ทุกประเทศต้องหาเส้นทางสำรอง
“กุญแจสำคัญที่จะทำให้โครงการแลนด์บริดจ์สำเร็จ ไม่ได้อยู่ที่ระยะเวลาการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่อยู่ที่ Business Model หากรัฐสร้างโครงสร้างพื้นฐาน แต่ไม่มี Business Model จะทำให้โครงการนี้ไม่มีใครสนใจมาใช้บริการ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการแลนด์บริดจ์ไม่สำเร็จ เพราะกำหนดกรอบความคิดแบบเดิมๆ คือ รัฐสร้างโครงสร้างพื้นฐานก่อนแล้วค่อยหาลูกค้า”
ทั้งนี้สิ่งสำคัญของโครงการแลนด์บริดจ์ คือ การเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติมาร่วมลงทุน โดยให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและเห็นประโยชน์ ส่วนภาครัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนก่อสร้างเอง สัญญาสัมปทาน 50 ปี ปัจจุบันได้มีการโรดโชว์ในต่างประเทศบ้างแล้ว หากโครงการนี้เกิดขึ้นจะทำให้การขนส่งสินค้าเปลี่ยนไป
นายชยธรรม์ กล่าวต่อว่า ขั้นตอนดำเนินการโครงการแลนด์บริดจ์นั้น ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการโรดโชว์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 หลังจากนั้นจะดำเนินการเสนอร่างพ.ร.บ.เขตพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสำนักงาน SEC ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 และดำเนินการออกประกาศเชิญชวนนักลงทุนภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 พร้อมเปิดประมูลได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2569 ส่วนการเวนคืนที่ดินจะดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2569 คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างภายในปี 2569 โดยจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2573
สำหรับปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จของโครงการแลนด์บริดจ์ ดังนี้ 1.รูปแบบของธุรกิจ (Business Model) ที่ใช้ในการดำเนินโครงการต้องสามารถแข่งขันในธุรกิจโลจิสติกส์และธุรกิจเดินเรือได้ 2.ต้องมองและบริหารจัดการโครงการฯเป็นท่าเรือเดียวที่เชื่อมทั้ง 2 ฝั่งด้วยแนวคิด One Port Two Side ที่มีการเชื่อมต่อด้วยแลนด์ลิงค์ ในรูปแบบมอเตอร์เวย์และรถไฟ และ 3.เพื่อให้สามารถแข่งขันทั้งด้านเวลาและต้นทุนได้ โดยจะต้องลงทุนและดำเนินการโดยผู้บริการเพียงกลุ่มเดียวในลักษณะ Consortium ที่มีความเชี่ยวชาญทั้งด้านการบริหารท่าเรือ ด้านการเดินเรือ ด้านการเงิน และด้านธุรกิจอื่นๆเพื่อลดอุปสรรคในการขนตู้สินค้า