การประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนกลายเป็นหนี้เรื้อรัง มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 1 มกราคม 2567 โดย ธปท.ได้ยกระดับการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมมากขึ้น ใน 8 แนวทาง
หนึ่งในนั้นคือ ข้อกำหนดเกี่ยวกับการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ผู้ให้บริการต้องมีผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการ ความสามารถในการชำระหนี้และไม่กระตุ้นให้ก่อหนี้เกินควร โดยควรผลักดันการกำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าและลักษณะสินเชื่อ (risk-based pricing) รวมทั้งเงื่อนไขสัญญามีความเป็นธรรมต่อลูกค้า
"ฐานเศรษฐกิจ" ตรวจสอบข้อกำหนดเกี่ยวกับ การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ตามประกาศของ ธปท.ในเอกสารแนบ 1 พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ การกำหนดให้สถาบันการเงิน ซึ่งเป็นผู้ให้บริการต้องกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับความต้องการและสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมทั้งกำหนดเงื่อนไขและรูปแบบการผ่อนชำระหนี้ที่สอดคล้องกับรายได้ หรือกระแสเงินสดที่นำมาชำระหนี้โดยไม่กระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เกินควร
ตัวอย่างการกำหนดรูปแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อที่เหมาะสม
ผู้ให้บริการต้องหลีกเลี่ยงการออกแบบผลิตภัณฑ์สินเชื่อในลักษณะที่จ่ายชำระช่วงแรกเฉพาะดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวเพื่อจูงใจลูกค้า โดยตัดชำระไม่ถึงเงินต้น หรือการจ่ายชำระงวดสุดท้ายเป็นเงินก้อนใหญ่ (balloon payment) ที่อาจทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้จริง
ยกเว้นกรณีที่ลักษณะการจ่ายชำระสอดคล้องกับกระแสเงินสดของลูกหนี้และได้ผ่านการประเมินความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ซึ่งอาจเป็นกรณีเฉพาะสำหรับลักษณะของสินเชื่อบางประเภท หรือลูกหนี้บางกลุ่มที่ในอนาคตจะมีกระแสเงินสดมาชำระหนี้เช่น สินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเสริมสภาพคล่องเพื่อประกอบอาชีพ ที่ยังไม่มีกระแสเงินสดเข้าในระยะเริ่มต้น แต่ในอนาคตจะมีแหล่งเงินเพื่อมาชำระหนี้
ขณะเดียวกันยังกำหนดให้สถาบันการเงินกำหนดอัตราดอกเบี้ยของผลิตภัณฑ์สินเชื่อสอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้าหรือกลุ่มลูกค้าและลักษณะสินเชื่อ (risk-based pricing) ภายใต้เพดานอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้ตามหลักเกณฑ์หรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ตัวอย่างที่สนับสนุนให้ดำเนินการ
กรณีที่ลูกค้าใหม่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ หรือคะแนนเครดิตดี หรือมีประวัติชำระหนี้ดีต่อเนื่องกับเจ้าหนี้รายอื่น ผู้ให้บริการควรเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าลูกค้ารายอื่นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า หรือมีประวัติชำระหนี้ล่าช้า
กรณีที่ลูกค้าเดิม เคยได้รับอนุมัติสินเชื่อซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงหรืออยู่ที่เพดาน เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงหรือมีข้อมูลจำกัดมาก โดยปัจจุบันลูกค้าจ่ายชำระหนี้ดีอย่างต่อเนื่อง เมื่อมีการให้วงเงินเพิ่ม ผู้ให้บริการควรพิจารณาทบทวนปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงของลูกค้า
กรณีสินเชื่อที่มีการหักชำระหนี้ จากเงินเดือน หรือสินเชื่อที่ใช้เงินฝากของตนเองค้ำประกัน ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำอัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อทั่วไป เพื่อให้สอดคล้องกับความเสี่ยง
กรณีสินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ลูกค้ามีการทำประกันคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ (Mortgage Reducing Term Assurance: MRTA) ผู้ให้บริการควรพิจารณาเสนออัตราดอกเบี้ยพิเศษหรืออัตรา ดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติ
นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางการบริหารความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ และการดำเนินการเกี่ยวกับหลักประกัน โดยให้สถาบันการเงินผู้ให้บริการต้องบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อโดยไม่สร้างภาระต่อลูกค้าจนเกินสมควร กล่าวคือจะต้องไม่เรียกหลักประกัน หรือการค้ำประกัน หรือการทำประกันเพิ่มเติมมากเกินความจำเป็นในการป้องกันความเสี่ยง
ตัวอย่างการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อโดยที่ไม่สร้างภาระต่อลูกค้าจนเกินสมควร
หากผู้ให้บริการพิจารณาแล้วว่าลูกค้ามีความสามารถในการชำระหนี้ และมีหลักประกันที่มีคุณภาพและมูลค่าครอบคลุมภาระหนี้แล้ว ผู้ให้บริการต้องไม่บังคับให้มีบุคคลค้ำประกันเพิ่มเติมอีก การเสนอให้ลูกค้าทำประกันชีวิตเพื่อปิดความเสี่ยงเพิ่มเติม เช่น ประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองวงเงินสินเชื่อ ผู้ให้บริการต้องคำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นกับลูกค้าให้ไม่สูงจนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
ผู้ให้บริการต้องไม่บังคับให้ลูกค้าทำประกันวินาศภัยใหม่เพิ่มเติมโดยไม่มีความจำเป็น เช่น กรณีที่ลูกค้ายังมีประกันวินาศภัยคุ้มครองหลักประกันเดิมก่อนการรีไฟแนนซ์(refinance) ผู้ให้บริการต้องไม่บังคับลูกค้าทำประกันใหม่
ผู้ให้บริการต้องประเมินราคาหลักประกันด้วยความเหมาะสมและสะท้อนมูลค่าตามความเป็นจริง เมื่อลูกหนี้ได้ชำระหนี้อย่างครบถ้วนแล้ว ผู้ให้บริการต้องคืนหลักประกัน รวมถึงเอกสารทางทะเบียนหรือหลักฐานอื่นใดที่ผู้ให้บริการได้รับไว้เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ เช่น สมุดคู่มือการจดทะเบียนรถที่ผู้ให้บริการรับมาไว้เป็นประกันการชำระหนี้สินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ให้แก่ลูกหนี้ ภายใน 10 วันทำการ และสำหรับกรณีการรีไฟแนนซ์(refinance) ผู้ให้บริการต้องดำเนินการไถ่ถอนหลักประกันให้แล้วเสร็จ ภายใน 15 วันทำการ ยกเว้นลูกหนี้แจ้งความประสงค์ให้ดำเนินการภายหลังจากระยะเวลาที่กำหนด หรือไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ หรืออยู่ในขั้นตอนการบังคับคดี
ขณะเดียวกันยังกำหนดเงื่อนไขของข้อสัญญา ให้สถาบันการเงินผู้ให้บริการต้องกำหนดเงื่อนไขสัญญาที่เป็นธรรมต่อลูกค้า โดยใช้ข้อความที่เข้าใจง่าย และไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ให้บริการซึ่งอาจนำไปสู่ความเสียหายหรือเสียประโยชน์ของลูกค้า เช่น การให้สิทธิผู้ให้บริการยกเลิกสัญญาได้ โดยไม่มีเหตุผลสมควรหรือไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า การจำกัดความรับผิดจากการผิดสัญญาของผู้ให้บริการ
ที่มาข้อมูล