ธปท. ยกระดับแก้หนี้ครัวเรือน คุมปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบเป็นธรรม

28 ธ.ค. 2566 | 05:55 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ธ.ค. 2566 | 06:16 น.

ธปท.ออกประกาศ คุมแบงก์ นอนแบงก์ ปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม ยกระดับแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน มีผลบังคับใช้1 ม.ค. 2567 

28 ธันวาคม 2566 นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายคุ้มครองและส่งเสริมความรู้ผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทำการแทนผู้ว่าการธปท. มีหนังสือถึงผู้บริหารสถาบันการเงิน และผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ภายใต้การกำกับดูแลของธปท. ทุกแห่ง เกี่ยวกับประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending)

สาระสำคัญของประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อกำหนดบทบาทหน้าที่ของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรการเป็นหนี้อย่างเหมาะสม ตั้งแต่การพัฒนาและการโฆษณาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ การให้สินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ การดูแลช่วยเหลือหนี้เดิม โดยเฉพาะหนี้เรื้อรังและหนี้เสีย จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดการให้ข้อมูลเพื่อกระตุกพฤติกรรมลูกค้า (nudge) ตลอดวงจรหนี้และส่งเสริมวินัยทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนเป็นหนี้เท่าที่จำเป็นและชำระคืนไหว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

หนังสือฉบับดังกล่าวระบุว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามลำดับ แม้ว่าปัจจุบันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะเริ่มทยอยปรับลดลงตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวและสินเชื่อที่ขยายตัวชะลอลงหลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือในช่วงโควิด 19 แต่สัดส่วนดังกล่าวยังอยู่ในระดับสูง การยกระดับการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อให้มีความรับผิดชอบและเป็นธรรมยิ่งขึ้น

ในขณะเดียวกันส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยและมีทักษะการบริหารจัดการด้านการเงินเพิ่มขึ้น จึงเป็นส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงได้ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เพื่อยกระดับการปฏิบัติตามหนังสือเวียนเรื่อง แนวทางการบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่ออย่างเป็นธรรม ให้มีความครอบคลุมและชัดเจนมากยิ่งขึ้น

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างบทบาทของผู้ให้บริการในการรับผิดชอบลูกค้าตลอดวงจรหนี้อย่างเหมาะสม ครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ก่อนหรือกำลังจะเป็นหนี้ ระหว่างเป็นหนี้ เมื่อลูกหนี้มีปัญหาชำระหนี้ จนถึงการดำเนินการตามกฎหมายและโอนขายหนี้ โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ

 

ตลอดจนส่งเสริมการให้ข้อมูลเงื่อนไขและคำเตือนที่ลูกค้าควรรู้ เพื่อกระตุกพฤติกรรม (nudge) และสนับสนุนให้ลูกค้ามีวินัยทางการเงินที่ดีขึ้น สามารถบริหารจัดการหนี้ให้เป็นประโยชน์กับตนเอง (responsible borrowing) ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่ สกช. 7/2566 เรื่อง การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) ลงวันที่ 21 ธันวาคม 2566 ซึ่งได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและงานทั่วไป เล่ม 140 ตอนพิเศษ 326 ง ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2566 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป

หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติมจากประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการบริหารจัดการด้านการให้บริการแก่ลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ประกอบด้วยหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้สินเชื่อตลอดวงจรการเป็นหนี้ครอบคลุม 8 ด้าน ดังนี้ (1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อ (2) การโฆษณา (3) กระบวนการขาย (4) การพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ (affordability) (5) การส่งเสริมวินัยและการบริหารจัดการทางการเงินในช่วงเป็นหนี้ (6) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) (7) การให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ ทั้งการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ลูกหนี้ที่ยังไม่ด้อยคุณภาพ (non-NPL) ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ในลักษณะเชิงป้องกัน (pre-emptive DR) และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหา (TDR) (8) การดำเนินตามกฎหมายและการโอนขายหนี้ไปยังเจ้าหนี้รายอื่น

ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับผู้ให้บริการดังต่อไปนี้

  • สถาบันการเงิน และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง
  • บริษัทบริหารสินทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทบริหารสินทรัพย์ทุกแห่ง
  • ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่มิใช่สถาบันการเงิน ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 (เรื่อง ธุรกิจบัตรเครดิต) ทุกแห่ง
  • ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงินตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ) ทุกแห่ง
  • ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับที่มิใช่สถาบันการเงิน ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (เรื่อง สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ) ทุกแห่ง