หลังกระทรวงการคลัง ยื่นเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เคาะใช้มาตรการ Easy e-Receipt เพื่อเป็นการสนับสนุนผู้บริโภคภายในประเทศสำหรับช่วงต้นปี 2567 ซึ่งกำหนดค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 50,000 บาท ระหว่างวันที่ 1 มกราคม-15 กุมภาพันธ์ 2567 พบว่ามีผู้ประกอบการห้าง ร้านค้า ร้านอาหาร ต่างจัดโปรโมชั่น ขานรับมาตรการ Easy e-Receipt จำนวนมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีบางรายที่ไม่เข้าร่วมมาตรการดังกล่าว
นายมิลินทร์ วีระรัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ตั้งงี่สุน ซูเปอร์สโตร์ จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีก-ค้าส่ง รายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากข้อมูลในกลุ่มผู้ประกอบการห้างโลคัลโมเดิร์นเทรดกว่า 80 ราย พบว่าเข้าร่วมโครงการ Easy e-Receipt (หรือชื่อเดิม e-Refund) ประมาณกว่า 40 รายเท่านั้น โดยตั้งงี่สุนเป็น 1 ในผู้ประกอบการที่ไม่ได้เข้าร่วมด้วยเหตุผลหลายประการ
“เริ่มตั้งแต่ภาพรวมของปี 2566 โครงการดังกล่าวถือว่าไม่ประสบความสำเร็จ เพราะผู้ประกอบการต้องลงทุนราว 2 แสนบาท เพื่อเชื่อมต่อระบบกับกรมสรรพากร ฉะนั้นห้างโลคัลโมเดิร์นเทรดขนาดเล็กจึงค่อนข้างมีปัญหา อีกทั้งหากเกิดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลอาจถูกปรับได้ ยกตัวอย่างการออกใบกำกับภาษีที่ต้องมีคำว่า “สำนักงานใหญ่” เท่านั้น ถ้าอยากแก้ไขข้อมูลภายหลังก็เกิดความยุ่งยากพอสมควร และระบบคอมพิวเตอร์ในแต่ละห้างร้านก็ต่างกัน เชื่อมต่อได้บ้าง ไม่ได้บ้าง
ขณะที่ปีนี้มีการปรับรูปแบบสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการใหม่ โดยมีบริษัท outsource เข้ามาให้บริการเชื่อมระหว่างผู้ประกอบการกับกรมสรรพากร โดยมีแพ็กเกจให้ผู้ประกอบการเลือกใช้บริการ ตั้งแต่ระดับ 1 ถึง ระดับ 7 โดยระดับ 1 ราคาค่าบริการ 600 บาท/เดือนสำหรับ 200 ธุรกรรม หรือคิดเฉลี่ย 3 บาท/ธุรกรรม
สูงสุดระดับ 7 ราคาค่าบริการ 6,400 บาท/เดือนสำหรับ 5,000 ธุรกรรม หรือคิดเฉลี่ย 1.28 บาท/ธุรกรรม ซึ่งผู้ประกอบการหลายรายมีเวลาตัดสินใจและศึกษาข้อมูลน้อยมาก อีกอย่างคือการใช้จ่ายของผู้บริโภคในห้างโลคัลโมเดิร์นเทรดจะแตกต่างจากห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ และรายได้ของลูกค้าที่ต้องเสียภาษีเต็มจำนวนในพื้นที่มีอยู่น้อย
“ผมมองว่าโครงการนี้เอื้อผลประโยชน์ให้กับห้างใหญ่หรือนายทุนรายใหญ่ หากเทียบกันแล้วต่างจากโครงการประชารัฐมาก เพราะประชาชนคนหาเช้ากินค่ำทั่วไปยังคงต้องเสียเงินซื้อสินค้าเท่าเดิมโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ส่วนคนที่เข้าเกณฑ์ตามเงื่อนไขและต้องซื้อสินค้าเต็มจำนวนตามที่โครงการระบุไว้ น่าจะคิดถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าราคาแพง เช่น โทรทัศน์หรือโทรศัพท์มือถือ เป็นอันดับแรก คงไม่มีใครสนใจมาซื้อพัดลมเครื่องละ 800 บาท ที่ห้างโลคัลโมเดิร์นเทรด”
ด้านนายสุพจน์ ชัยวัฒน์ศิริกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา มาตรการ ช้อปดีคืนของภาครัฐ บวกกับโปรโมชั่นจากศูนย์ สามารถกระตุ้นการจับจ่ายได้มากกว่าช่วงปกติ สร้างยอดขายจากช่วงปกติได้มากขึ้น 10-15% ส่วนในปีนี้มาตรการ Easy e-Receipt เป็นแนวทางของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
คาดว่าจะได้รับการสนับสนุนจากประชาชน และภาคเอกชนต่างๆ เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ที่สามารถช่วยดึงดูดกระตุ้นให้ผู้บริโภคกล้าที่จะจับจ่ายมากขึ้นจริงเพราะสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้ ส่งผลให้เกิดการหมุนเวียนเม็ดเงินที่เกิดขึ้นจริงในระบบ เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้ก้าวพ้นจากผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ได้
นางมัลลิกา เหลืองนิมิตรมาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายการตลาด บริษัท เพาเวอร์บาย จำกัด ในเครือเซ็นทรัล รีเทล กล่าวว่า ถ้ามองในมุมผู้ประกอบการ คาดหวังว่าโครงการนี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกค้าตัดสินใจซื้อได้ง่ายขึ้น และซื้อมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เพราะปีนี้เพิ่มมูลค่าที่สามารถลดหย่อนภาษีได้สูงถึง 5 หมื่นบาท
สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าจะเป็นสินค้าอันดับต้นๆ ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในการเลือกซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีความคุ้มค่าในการลดหย่อนภาษี ส่งผลให้มียอดซื้อต่อคนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะร้านค้าอย่างเพาเวอร์บายที่มีการจดทะเบียนผู้ประกอบการที่สามารถออกใบกำกับภาษีแบบ e-Receipt ได้ โดยลูกค้าสามารถซื้อสินค้าได้ทุกช่องทางการขายไม่ว่าจะเป็นที่หน้าร้าน หรือผ่านช่องทางออนไลน์ สำหรับในปีนี้คาดว่าจะได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเช่นกัน
“ที่ผ่านมา เพาเวอร์บาย ได้ตอบรับมาตรการช้อปดีมีคืนของภาครัฐบาลในทุกๆ ปี ซึ่งได้รับกระแสตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทั้งนี้มั่นใจว่าแคมแปญต่างๆ จะช่วยเพิ่มทราฟฟิกภายในร้านขึ้นกว่า 10%”
ด้านนางสาวกฤษชนก ปัทมสัตยาสนธิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ ILM ผู้นำธุรกิจร้านค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ภายในบ้าน ของตกแต่งบ้านครบวงจร กล่าวว่า บริษัทจัดเทศกาลลดครั้งใหญ่ Index Clearance sale นี้มารับกับจังหวะมาตรการของภาครัฐ Easy e-Receipt ซึ่งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นประมาณ 7 หมื่นล้านบาท
และจีดีพีเติบโต 0.18% ประกอบกับแนวโน้มธุรกิจ Living Lifestyle ในกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ ของใช้ภายในบ้าน ของตกแต่งบ้าน ในช่วงไตรมาส 1 จะมีความคึกคัก เนื่องจากพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเตรียมเปลี่ยนอุปกรณ์ของใช้ภายในบ้านเพื่อต้อนรับศักราชใหม่ เชื่อว่าจะส่งผลให้ยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่าโครงการ Easy e-Receipt ของรัฐบาลเป็นนโยบายที่ดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการใช้บริการต่างๆ ภายในโรงแรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยในขณะนี้ก็เริ่มเห็นโรงแรมรายใหญ่เริ่มทยอยออกมาประกาศเข้าร่วมโครงการแล้ว แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้ประกอบการโรงแรมอีกจำนวนมาก
อาจจะไม่ได้รับแจ้งการสมัครเข้าร่วมโครงการนี้อย่างชัดเจน ส่วนใหญ่เพิ่งจะรู้กันก่อนที่รัฐบาลจะออกประกาศเพียง 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว ทำให้ไปยื่นขอร่วมโครงการไม่ทัน ซึ่งทางสมาคมโรงแรม ก็คงจะต้องแจ้งให้สมาชิกสมาคมรับทราบข้อมูลในเรื่องนี้ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าโรงแรมจะเข้ามาร่วมโครงการในปีนี้ทันหรือไม่ ถ้าไม่ทันก็ต้องรอปีหน้า
ขณะที่นายดุสิต สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด เชนสโตร์สมาร์ทโฟน และอุปกรณ์รายใหญ่ กล่าวว่า ภายหลังโครงการ “Easy e-Receipt” ซื้อสินค้าและบริการสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 5 หมื่นบาท เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2567 พบว่ามียอดขายช่วง 3 วันแรก ยอดขายเติบโตขึ้น 40% อย่างไรก็ตามเนื่องจากโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาถึง 15 ก.พ. 2567 ซึ่งยังไม่สามารถตอบได้ว่ายอดขายจะเติบโตในสัดส่วนดังกล่าวตลอดระยะเวลาโครงการหรือไม่ โดยเจมาร์ท มีการจัดแคมเปญแจกพ้อยท์ให้กับลูกค้าที่ใช้สิทธิ์โครงการ “Easy e-Receipt” เพิ่มเติม