“สุริยะ” สั่งบขส. ศึกษาย้ายหมอชิต2 เข้าสถานีกลางบางซื่อ

15 ม.ค. 2567 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ม.ค. 2567 | 11:25 น.

“สุริยะ” สั่งบขส.ศึกษาย้ายหมอชิต2 เข้าสถานีกลางบางซื่อ พร้อมปรับปรุงสถานีเดิม จ่อชงครม.ไฟเขียวภายในปี 67 มั่นใจตอกเสาเข็มรัฐบาลยุคนี้

นายสุริยะ  จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สำหรับแนวทางการแก้ไขปรับปรุงคุณภาพการให้บริการ และภาพอนาคตของการพัฒนาสถานีรถโดยสารขนส่งสาธารณะตามมาตรฐานสากล ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จากที่สมาชิกได้อภิปรายถึงเรื่องสถานีขนส่งหมอชิต 2 ยืนยันว่า ไม่เคยละเลยเรื่องคุณภาพการให้บริการ ซึ่งเดิมนั้นสถานีขนส่งหมอชิต เคยอยู่ที่ถนนพหลโยธิน ใช้งานมา 38 ปี ตั้งแต่ปี 2503 จนกระทั่งถึงปี 2541 กรมธนารักษ์มีแผนพัฒนาพื้นที่สถานีขนส่งหมอชิตเดิม จึงได้ย้ายมาเปิดให้บริการสถานีขนส่งหมอชิต 2 เป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อพัฒนาบริเวณอาคารหมอชิตเดิม 

 

ก่อนจะให้ บขส.ย้ายกลับไปที่พื้นที่เดิม แต่มีอุปสรรคในการดำเนินการ ทำให้สถานีหมอชิต 2 ที่ออกแบบไว้เป็นอาคารชั่วคราวต้องเปิดให้บริการต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ขณะที่สถานีขนส่งอื่นๆ ก็กระจายไปตามทิศต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ทั้งสถานีขนส่งสายใต้ใหม่ สถานีเอกมัย สถานีรถเล็กจตุจักร  ทำให้ประชาชนไม่สะดวกในการเข้าถึง และการเชื่อมต่อไปยังจุดหมายปลายทาง
 

ขณะเดียวกันกระทรวงฯ มีแนวคิดพัฒนาให้บขส.ไปศึกษาจ้างที่ปรึกษาดำเนินการศึกษาและรีโนเวทสถานีหมอชิตเดิมให้ทัยสมัย มีความปลอดภัย มีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับผู้โดยสารที่มาใช้บริการ โดยจะศึกษาให้แล้วเสร็จให้ได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

 

นายสุริยะ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีแนวคิดที่จะพัฒนาสถานีขนส่งรถโดยสารสาธารณะแห่งใหม่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร บริเวณสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยให้บขส. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จ้างที่ปรึกษา เพื่อศึกษารวมสถานีขนส่งทั้งหมด มาไว้ที่สถานีกลางบางซื่อ ส่วนกระบวนการทั้งหมดยังต้องมีการศึกษาก่อนว่าจะต้องใช้งบประมาณเท่าใดและจะใช้พื้นที่แปลงใดของสถานีกลางฯ คาดว่าศึกษาแล้วเสร็จ ก่อนเสนอครม.ภายในปีนี้ และยืนยันว่าการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ในรัฐบาลชุดนี้ 
 

สำหรับพื้นที่ที่จะใช้ เป็นพื้นที่ของรฟท. ส่วนจะเป็นแปลงใดนั้นอยู่ที่ข้อสรุปผลการศึกษาความเหมาะสม ส่วนเรื่องงบประมาณที่จะใช้ ในส่วนของที่ดินไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดซื้อที่ดิน ส่วนงบประมาณก่อสร้างได้สั่งการให้ศึกษาว่า จะใช้แนวทางใด คาดว่ามีแนวคิดพื้นที่สถานีขนส่งเอกมัย ซึ่งราคาประเมินที่ดินที่สถานีขนส่งโดยสารเอกมัย มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 7,000 ล้านบาท น่าจะมาปล่อยเช่าหรือขาย เพื่อนำเงินมาใช้ในการสร้างก่อสร้างเพราะเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำได้