ศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ จัดทำดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคมเดือนธันวาคม 2566 เปรียบเทียบเดือนพฤศจิกายน 2566 และคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า โดยเก็บแบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ จำนวน 420 ตัวอย่าง
ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนโดยรวมเดือนธันวาคม (46.30) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน (45.80) และเดือนตุลาคม (45.50) โดยดัชนีที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครอบครัว รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน (รายได้หักรายจ่าย) การออมเงิน การลดลงของหนี้สิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ
ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวว่า ปัจจัยบวกที่สำคัญ คือ นโยบายส่งเสริมการลงทุน การบริโภคของภาครัฐบาล และการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวขึ้นประมาณ 2% รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทยที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้รัฐบาลได้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มในอัตราวันละ 2-16 บาท มีผลบังคับใช้เดือนมกราคม 2567
และภาครัฐยังมีมาตรการบรรเทาภาระค่าใช้จ่าย เพื่อช่วยลดความกังวลของประชาชน อาทิ นโยบายการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ที่ทำให้ลูกหนี้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ
ทั้งนี้ภาครัฐคาดว่าจะเป็นมาตรการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยั่งยืน โดยการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อให้ประชาชนนำไปปิดหนี้นอกระบบ และเข้ามาเป็นหนี้ในระบบที่มีดอกเบี้ยไม่สูงมากนัก อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ จำเป็นต้องย้อนไปดูที่ต้นตอ ล้วนมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย
โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤต ทำให้ประชาชนไม่มีเงินเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น และไม่สามารถกู้เงินในระบบที่มีดอกเบี้ยไม่สูงได้ เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน จำเป็นต้องไปใช้บริการหนี้นอกระบบ ซึ่งดอกเบี้ยสูง
ผศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวอีกว่า หากต้องการที่จะแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างจริงจัง ภาครัฐจำเป็นต้องเข้าใจที่ต้นตอของปัญหา ต้องมีแผนการช่วยเหลือประชาชนอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะการทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น ซึ่งจะทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีรายได้พอเพียง ปลูกฝังให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน
การให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการกู้เงินในระบบ และการปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนในช่วงที่เกิดวิกฤต การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และต่อเนื่อง เพื่อให้ปัญหาหนี้นอกระบบลดน้อยลงอย่างเป็นรูปธรรม
จากการสัมภาษณ์ประชาชน ต้องการความชัดเจนจากนโยบายการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของภาครัฐ โดยเฉพาะประชาชนที่เป็นลูกหนี้และได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว ยังเฝ้ารอการดำเนินงานของภาครัฐที่เป็นรูปธรรม จึงเสนอแนะให้ภาครัฐควรดำเนินงานเชิงรุกโดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานอย่างชัดเจน รวมถึงชี้แจงให้ประชาชนรับทราบ เนื่องจากหนี้นอกระบบดอกเบี้ยสูงมาก หากภาครัฐดำเนินการล่าช้า ย่อมทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ยิ่งเพิ่มขึ้น
ในส่วนของเจ้าหนี้นอกระบบมีจำนวนมากยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการของภาครัฐ เนื่องจากมองว่า ดอกเบี้ยตามที่ภาครัฐกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมายนั้นไม่เหมาะกับการกู้เงินนอกระบบแบบไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน โดยเจ้าหนี้เงินกู้นอกระบบส่วนหนึ่งกล่าวว่า ลูกหนี้นอกระบบจำนวนไม่น้อยหนีหนี้ ทำให้เจ้าหนี้มีความเสี่ยงต่อหนี้สูญมากเช่นกัน
นอกจากนี้ ประชาชนมองว่าปัจจุบันมีสิ่งผิดกฎหมายจำนวนมาก อาทิ ยาเสพติด การพนันออนไลน์ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การค้าประเวณี แรงงานต่างด้าว การลักลอบนำสินค้าเข้าประเทศ ฯลฯ ปัญหาต่าง ๆ ล้วนส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคมเป็นอย่างมาก ส่วนหนึ่งมาจากการที่หน่วยงานภาครัฐบางส่วนรู้เห็นเป็นใจ โดยหวังรับเงินสินบนจากสิ่งผิดกฎหมายเหล่านี้
ดังนี้น จึงเสนอให้นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีมาตรการแก้ปัญหาการกระทำสิ่งผิดกฎหมายต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม และมีบทลงโทษอย่างเด็ดขาดแก่เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ปล่อยปละละเลย เพื่อให้สิ่งผิดกฎหมายลดน้อยลง
ส่วนผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และรายได้จากการทำงานเพิ่มขึ้น คิดเป็นร้อยละ 37.10 และ 36.70 ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค บริโภคที่จำเป็นในครัวเรือน และรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ในอีก 3 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้น คิดเป็น ร้อยละ 34.70 และ 32.80 ตามลำดับ