นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ รัฐบาลได้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2566 โดยปรับวิธีการคำนวณหนี้ใหม่ จากเดิมในกรณีที่ลูกหนี้มีการผิดนัดชำระหนี้ต่อกองทุน และภายหลังมีการทยอยชำระเข้ามา
เงินที่ชำระเข้ามา จะต้องนำไปตัดค่าปรับการผิดนัดชำระหนี้ก่อนเป็นอันดับแรก ต่อมาก็นำมาตัดดอกเบี้ยที่ค้างชำระ สุดท้ายจึงมาตัดเงินต้น ทำให้ลูกหนี้ที่เป็นหนี้ค้างชำระ เมื่อนำเงินเข้ามาชำระหนี้ เงินต้นจะลดลงน้อยมาก
แต่กฎหมายใหม่ เมื่อมีการชำระเข้ามา เงินนั้นจะไปตัดที่เงินต้นก่อน แล้วจึงค่อยมาตัดภาระดอกเบี้ยค้าง และสุดท้ายมาตัดที่ค่าปรับ
นายชัยณรงค์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมา โดยตามกฎหมายเดิม กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1 % ต่อปี แต่กฎหมายใหม่ กำหนดให้ ไม่เกิน 1 % ต่อปี หมายความว่าจะกำหนดให้ต่ำกว่า 1 % ก็ได้ ส่วนค่าปรับกรณีผิดนัดชำระหนี้นั้น กฎหมายเดิม กำหนดให้คิดค่าปรับ 7.5 % แต่กฎหมายใหม่ คิดเพียง 0.5 % เท่านั้น
“การคำนวณหนี้แบบใหม่ดังกล่าว จะทำให้ลูกหนี้ ต้องการมาชำระหนี้ที่ค้างอยู่มากขึ้น เนื่องจากภาระหนี้จะลดเร็วกว่าเดิม ทั้งนี้ ปัจจุบัน กยศ.มีหนี้เสียสะสม นับตั้งแต่จัดตั้งกองทุนมา รวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ซึ่งยอดหนี้เสียดังกล่าว สูงขึ้นเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับปี 2560 ที่มีหนี้เสียอยู่ราว 6 หมื่นล้านบาท”
สำหรับสาเหตุที่หนี้เสียพุ่งสูงขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยของ กยศ.ที่คิดในอัตราต่ำเพียง 1 % ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ยังสูงกว่าดอกเบี้ยเงินกู้ของ กยศ. ดังนั้นจึงมีลูกหนี้จำนวนหนึ่งที่อาจจะมีภาระหนี้หลายทาง ไม่ว่าหนี้บ้าน หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถยนต์ เลือกที่จะชำระหนี้ที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงก่อนการชำระหนี้ให้กับ กยศ.
ขณะเดียวกันในแต่ละปี กยศ.ก็ยังคงปล่อยเงินกู้ให้แก่นักเรียน นักศึกษาที่ต้องการเงินกู้เพื่อการศึกษา ซึ่งในแต่ละปี กยศ.ต้องปล่อยเงินกู้ราว 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินที่ปล่อยกู้ใหม่ในทุกปีดังกล่าว ส่วนหนึ่งก็กลายเป็นหนี้เสีย เข้ามาสะสม และในปัจจุบันสินเชื่อคงค้างของ กยศ.อยู่ที่ 4.8 แสนล้านบาท โดยมีลูกหนี้ 3.5 ล้านคน