โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) มูลค่า 1 ล้านล้านบาท อภิมหาโปรเจ็กต์ สำคัญที่รัฐบาลเศรษฐา มีหมุดหมาย เปลี่ยนเส้นทางการเดินเรือ ให้ไทยเป็นศูนย์กลางการขนส่งระดับโลก ซึ่งปัจจุบัน มีนักลงทุน จากหลายประเทศให้ความสนใจหลังจากมีการเดินสายโรดโชว์
ขณะเดียวกันมีความคืบหน้า กรณีผลศึกษาของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามันหรือแลนด์บริดจ์ ได้ข้อสรุปพร้อมข้อเสนอแนะรัฐบาลให้ดำเนินโครงการ สอดคล้องกับ บริบทการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ทางทะเล โดยเฉพาะชุมชนที่ต้องการให้ทุกภาคส่วนสามารถอยู่ร่วมกันได้
เดินหน้าลุยแลนด์บริดจ์
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะกมธ.โครงการ แลนด์บริดจ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ ผลศึกษาคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เกี่ยวกับโครงการแลนด์บริดจ์ ได้ข้อสรุปและจะเร่งผลักดันตามผลศึกษาโครงการให้เกิดขึ้นตามแผนตามนโยบายนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เบื้องต้นได้ ลงพื้นที่ทำความเข้าใจประชาชนในพื้นที่4 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดระนอง ชุมพร นครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเวนคืน ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ ส่วนใหญ่ยังไม่มีเอกสารสิทธิ์ ประเภทโฉนด อย่างไรก็ตามเสียงส่วนใหญ่สนับสนุนให้พัฒนาโครงการมีเพียง อำเภอพะโต๊ะ จังหวัดชุมพร และระนองบางส่วนที่มีกระแสคัดค้าน
อย่างไรก็ตามจะมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจรระหว่างวันที่ 22-23 มกราคม 2567 และจะรับข้อเสนอจากภาคเอกชนและประชาชนเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงให้สอดรับกับความต้องการในพื้นที่อีกครั้ง
มองว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีประโยชน์และสร้างโอกาสสำหรับการเป็นศูนย์กลางขนส่งระดับระดับภูมิภาค และการลงทุนให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ล่าสุด กมธ.โครงการแลนด์บริดจ์ ได้สรุปการศึกษาเสร็จแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ในลักษณะเดียวกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่มีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) กำกับดูแลโครงการต่อไป
เปิดสูตร กมธ.แลนด์บริดจ์
สำหรับผลการพิจารณาศึกษาญัตติ เรื่อง การศึกษาโครงการโครงการแลนด์บริดจ์ของกมธ.วิสามัญฯ เบื้องต้น กมธ.ขอให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอแนะในผลการศึกษาของ กมธ.เนื่องจากแลนด์บริดจ์เป็นโครงการขนาดใหญ่จะต้องมีกฎหมายเฉพาะในการดำเนินการ จึงจำเป็นต้องออกพ.ร.บ.ที่ชัดเจนเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่เป็นไปตามกฎหมายเพื่อความคล่องตัว
ทั้งนี้ควรมอบหมายให้หน่วยงานเกี่ยวข้องดำเนินการอย่างชัดเจนเพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างแท้จริง โดยครม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นต้น ควรร่างเป็นพ.ร.บ.ที่คล้ายคลึงกับ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และให้มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับบริบทของภาคใต้
ขณะเดียวกัน การดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์จะเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับและเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เช่น การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางด้านสุขภาพ, พ.ร.บ.การเวนคืนที่ดิน (ถ้ามี) ดังนั้นอาจจะตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวง กรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมา คิดวิเคราะห์แนวทางในการดำเนินการ ตลอดจนทางออกในประเด็นอุปสรรคที่เกี่ยวข้องต่อไป
นอกจากนี้ตามข้อเสนอแนะของกมธ.ระบุว่ารัฐบาลควรเสนอญัตติด่วนเรื่องการเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียงพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (SEC) ต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อทำให้การดำเนินการสะดวกและง่ายยิ่งขึ้น รวมทั้งศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ไปพร้อมๆ กัน จึงจะประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีความซับซ้อน ดังนั้น การดำเนินการโครงการนี้ควรอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษที่มีวัตถุประสงค์สอดคล้องกับหลักการของโครงการแลนด์บริดจ์ เพื่อขจัดอุปสรรคที่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
“ขอความร่วมมือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและสกพอ.ให้ถอดบทเรียนและอุปสรรคจากการบังคับใช้ พ.ร.บ.อีอีซีนับตั้งแต่ประกาศใช้โดยสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิ ภาพภายใต้กฎหมายดังกล่าวเพียงฉบับเดียวหรือไม่ หรือยังพบอุปสรรคจากกฎหมายฉบับอื่น มีปัญหาอุปสรรคใดและมีแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาการก่อสร้างที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกำหนดแนวทางการวางผังเมืองอย่างไรเพื่อเป็นต้นแบบให้กับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรต่อไป”
แนะปรับผลศึกษาสศช.-สนข.ให้สอดคล้องกัน
ขณะเดียวกันควรมีการปรับแนวทางการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสนข.ให้สอดคล้องและตรงกันในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ รายละเอียดตัวเลขของการประหยัดค่าใช้จ่าย หากใช้เส้นทางในโครงการแลนด์บริดจ์ และจะดึงดูดนักลงทุนอย่างไร ตลอดจนข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน,รายละเอียดเป้าหมายในการพัฒนา,พื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือ,รายละเอียดการจัดทำพื้นที่ในเชิงอุตสาหกรรมและเชิงพาณิชย์,รายละเอียดของรูปแบบธุรกิจ,รายละเอียดตัวเลข EIR (Effective Interest Rate) และ FRR (Rejection Rate) ว่าได้มีการนำมาคิดคำนวณด้วยหรือไม่ รวมถึงตัวเลขที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ,รายละเอียดตัวเลขค่าการก่อสร้างตัวเลขต้นทุนค่าเสียโอกาส ทั้งในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ตัวเลขการท่องเที่ยว, รายละเอียดประเด็นของ Demand Phase Development สมมุติฐานในแต่ละเฟส เป็นต้น
โดยหน่วยงานทั้ง 2แห่งควรมีวัตถุประสงค์การศึกษาที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน และมีข้อมูลรายละเอียดที่เป็นไปในแนวทางเดียวกันด้วย อาทิ ความเร็วของเรือ ไซส์เรือ เป้าหมายที่เรือไป รวมทั้งการถ่ายสินค้าเป็นระบบอัตโนมัติ หรือไม่ อีกทั้งควรให้ข้อมูลที่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องของการเวนคืนที่ดิน รูปแบบการลงทุน วิธีการร่วมทุน ผลตอบแทนพิเศษต่าง ๆ มีวิธีการ และรูปแบบในการประมาณการตัวเลข เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะต้องมีคำตอบที่ชัดเจน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการโรดโชว์ของนายกรัฐมนตรี ดังนั้น หน่วยงานต่าง ๆ จึงต้องมีการศึกษาข้อมูลให้รอบคอบถี่ถ้วน เพื่อให้เกิดความถูกต้องแม่นยำของข้อมูล
ส่วนการประมาณการณ์จำนวนปริมาณผู้โดยสารรถไฟในโครงการแลนด์บริดจ์ควรพิจารณาให้สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะในมิติที่ตั้งของสถานีตามรายทาง นื่องจากพบว่าสถานีราชกรูดที่เป็นหนึ่งในสถานีรายทางของเส้นทางนี้ ตั้งอยู่ห่างจากเมืองระนองมากกว่า 30 กิโลเมตร ดังนั้นในกรณีถ้ามีผู้โดยสารจะลงที่สถานีราชกรูด อาจไม่ทำให้เกิดแรงจูงใจให้คนทั่วไปโดยสารทางรถไฟ เนื่องจากไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางต่อเข้าไปยังเมืองระนอง และขอให้นำเสนอโครงการแลนด์บริดจ์ที่ยังไม่แสดงภาพตัดของโครงสร้างอุโมงค์ทางรถไฟและมอเตอร์เวย์ที่ต้องลอดผ่านพื้นที่เชิงเขาเพิ่มเติม
ต้องรอบคอบพื้นที่อุทยาน 7 แสนไร่
สำหรับการก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดระนองโดยเฉพาะบริเวณรอยต่อเชื่อมโยงกับท่าเรือ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ชุ่มนํ้าแรมซาร์ไซต์ (Ramsar Site) ที่ได้รับความคุ้มครองตามอนุสัญญาแรมซาร์ (Ramsar Convention) หรืออนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มนํ้า มีเนื้อที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่อุทยานแห่งชาติแหลมสน ถึงอุทยานแห่งชาติลำนํ้ากระบุรี เนื้อที่ประมาณ 7 แสนไร่ จึงควรพิจารณาให้รอบคอบและหาทางออกเพื่อให้ดำเนินการตามแผนได้
ประเมินเวนคืนต้องเหมาะสม
ขณะที่การประเมินราคาที่ดินเพื่อนำไปสู่การเวนคืนนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบการก่อสร้างควรกำหนดราคาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ ควรยึดตามราคาประเมินของกรมธนารักษ์เป็นสำคัญและควรวางแนวทางและขั้นตอนให้ชัดเจนว่าจะกำหนดแนวเวนคืนที่ดินที่ใดบ้าง ตลอดจนการพัฒนาแหล่งนํ้าให้เพียงพอกับการอุปโภคและบริโภคของคนในพื้นที่และการขยายกำลังผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการของประชาชนและอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นจากนิคมอุตสาหกรรม
ด้านการก่อสร้างโครงการแลนด์บริดจ์นั้น หน่วยงานภาครัฐควรพิจารณาถึงประโยชน์ทางเศรษฐกิจในมิติเชิงจุลภาค โดยเฉพาะการสร้างงานให้กับประชาชนและการเพิ่มศักยภาพให้กับแรงงาน โดยไม่ควรคำนึงถึงเฉพาะปริมาณเรือและสินค้าที่จะผ่านเข้าออกตามเส้นทางเท่านั้น เพราะควรคิดคำนวณในเชิงจุลภาคเข้าไปด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต
เอกชนขอความชัดเจนโครงการ
สำหรับความคิดเห็นของเอกชนที่เกี่ยวกับเดินเรือและการขนส่งสินค้านั้น ยังมีความกังวลกับความชัดเจนของโครงการ อย่างไรก็ตามหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่โครงการแลนด์บริดจ์ส่วนใหญ่เห็นด้วยที่จะมีโครงการใหญ่ดังเช่นโครงการแลนด์บริดจ์แม้จะมีกลุ่มประชาชนส่วนน้อยไม่เห็นด้วยก็ตามโดยเฉพาะทั้ง 5 จังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์เพราะจะเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้
ให้เกิดการเชื่อมต่อการคมนาคมขนส่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ให้เป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าทางการเกษตรในภาคใต้ทั้งยางพารา มังคุด ทุเรียน ปาล์ม เป็นต้น ไปยังต่างประเทศ เช่น ประเทศจีน ยุโรป เป็นต้น ตลอดจนให้เป็นศูนย์สนับสนุนการส่งออกอย่างครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเมืองแห่งสุขภาพ การท่องเที่ยวครบวงจร ส่งเสริมให้เป็นเกษตรที่ทันสมัยและยั่งยืน
หากมีโครงการนี้ก็จะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับประชาชนในภาคใต้ และการมีท่าเรือจะสร้างการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่จะทำให้เศรษฐกิจภาคใต้ดีขึ้นแน่นอน และภาคเอกชนมองในระดับประเทศว่าประเทศไทยจะเป็นดาวดวงใหม่ในการแข่งขันในเวทีโลกได้อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ส่วนการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่รัฐบาลจะเป็นอย่างยิ่ง
ที่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้ประชาชนพอใจ และควรเตรียมแผนพัฒนาแรงงานในพื้นที่เพื่อรองรับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ตลอดจนควรเตรียมวางแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การประมงพื้นบ้านและผลกระทบอื่นๆ